ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เทคโนแครตสู่การเมือง “อย่าดูถูกชาวบ้านด้วยนโยบายแจกพิศดาร”

คณิศ แสงสุพรรณ จากเทคโนแครต สู่นักการเมือง
คณิศ แสงสุพรรณ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาฯอีอีซี อดีตกรรมการนโยบายการเงิน และกรรมการสภาพัฒน์ กระโดดเข้าสนามการเมืองโค้งสุดท้ายก่อนฤดูการเลือกตั้ง 2566 ยอมรับหืดขึ้นคอ เจอสารพัดการแข่งขันนโยบายสุดพิสดารของแต่ละพรรค

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ดร.คณิศ เปิดใจในช่วงก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ว่าการเข้ามาทำงานการเมืองต่างจากโลกของชาวเทคโนแครต เพราะเมื่อกระโดดขึ้นเวทีการเมืองแล้ว ต้องขึ้นเขา-ลงถนน เดินหาเสียง “เรียกว่าได้ รู้จักโลกจริง ๆ ของคนไทยและการเมืองของไทย”

เขาค้นพบข้อเท็จจริงสำคัญว่า “คนไทยส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อย ภาวะหนี้ภาคประชาชนรุนแรงจริง ๆ การเมืองและการเลือกตั้งเป็นความหวังหนึ่งของชาวบ้าน ที่ช่วยบรรเทาความจนได้ เรื่องนโยบายระยะยาวชาวบ้านบอกว่าพอฟังได้ แต่จำเป็นต้องเลือก นโยบายประชานิยมระยะสั้นมากกว่าเพราะตอบโจทย์ปากท้องชัดเจน เป็นรูปธรรม”

ดังนั้น มาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตร มาตรการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย จึงเป็นข้อเสนอของทุกพรรค และยิ่งแข่งขันกัน นับวันนโยบายก็ยิ่งพิสดารมากขึ้น แจกหนักขึ้น

ในความเป็นคนการเมือง ดร.คณิศบอกว่า “อย่าไปดูถูกชาวบ้านว่า เห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้นนะครับ เขามีความจำเป็นชัดเจน ชาวบ้านทั่วไป พ่อค้าแม่ขาย รอเป็นชั่วโมง เพื่อฟังความชัดเจนจากการหาเสียงว่าจะช่วยเขาจริง ๆ หรือเปล่า และชาวบ้านมองว่าการที่มีนักวิชาการมาให้ความรู้ถึงนโยบายที่พิสดารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี”

ดร.คณิศ พบเจอนักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ ในวงการหลากหลาย เขาเจอคำถามที่ธรรมดา แต่กินความลึกถึงการดีไซน์นโยบาย เช่น จากเทคโนแครต มาเป็นนักการเมือง จะแก้ปัญหาประเทศระยะยาวอย่างไร ในเมื่อชาวบ้านมักเลือกแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่า

ดร.คณิศตอบคำถามเหล่านั้นว่า “ในความเห็นของผม ประชาชนจะเลือกนโยบายพัฒนาระยะยาวมากขึ้น เมื่อรายได้ พ้นระดับวิกฤต เช่น 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ก็คือต้องทำให้ทุกคนมีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ เหลือเก็บ ดังนั้น ข้อเสนอเชิงวิชาการโดยเฉพาะ ภาคเกษตร ลดเกษตรกรในระบบประกันรายได้ ไปสู่การใช้ทุน และเทคโนโลยี ผลิตสินค้าที่มีตลาดรองรับ ยังสำคัญมากกับประเทศไทย นั่นคือลดจำนวนเกษตรกร ที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.”

และต้องลดจำนวนผู้มีรายได้น้อย โดยระยะสั้นการเพิ่มเงินในบัตรประชารัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประคองผู้มีรายได้น้อยให้ผ่านไปได้ แต่เป้าหมายจริง ๆ คือลดจำนวนคนในบัตรประชารัฐให้หมดไป ด้วยการสร้างรายได้ ช่องทางทำมาหากินให้กับคนกลุ่มนี้ทุกคน

“นี่คงเป็นการยอมรับของผมว่า เทคโนเครต ที่ผ่านมาทำงานไม่หนักพอ หรือไม่มี focus ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะระบบที่ช้า และตรวจสอบกันเอง ทำให้ทำอะไรใหม่ ๆ ได้ยาก ทางออกอาจจะเป็นการเข้ามาร่วมทำงานการเมือง เท่าที่จำได้หลังจากอาจารย์ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็ไม่ค่อยเห็นนักวิชาการที่มาทำงานกับพรรคการเมือง ผมคิดว่าในอนาคตคงจะมีมากขึ้น”

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะพิเศษกว่าทุกครั้ง ซึ่ง ดร.คณิศ ซึ่งทำงานกับคนการเมืองมาหลายสมัย ประเมินไว้แล้วว่า “นักการเมือง มีทั้งคนเก่งและไม่เก่ง แต่ตัดสินกันด้วยจำนวน ส.ส. ไม่ใช่เรื่องนโยบาย ในการเลือกตั้งทุกประเทศ พรรคการเมือง ส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องเร่งกระแส ให้เกิดความแตกต่าง”

“แต่ในกรณีของประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า เลือกตั้งคราวนี้ โจทย์หลักยังเป็นเหมือนเดิมว่า จะเกลียดใครดี ถ้าเกลียดอำมาตย์ เกลียดทหาร ก็เลือกส้มหรือแดง เกลียดส้มหรือแดง ก็เลือกลุง พออยู่กันไปมา เลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่พ้นลงถนนกันอีกแน่ ๆ”

“ยิ่งมีระบบ social network การสร้างอารมณ์ร่วม จึงสำคัญกว่าเหตุผลของนโยบาย ที่จะพัฒนาประเทศ การสร้างขั้วดูเหมือนจะได้รับความสำคัญสำหรับพรรคการเมืองมากกว่า เนื้อหานโยบายพัฒนาประเทศ”

ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าจะเป็นแบบนี้ แล้วทำไม ดร.คณิศ ยังจะเลือกเส้นทางสู่วงการเมือง เขาตอบว่า “ก็ต้องสารภาพว่า หาเรื่องใส่ตัวพอสมควร แต่คิดว่าในโลกการเมืองที่วุ่นวายแบบที่เล่าให้ฟัง ถ้าสามารถทำเรื่องสำคัญให้ประเทศได้สักเรื่องหนึ่ง ก็น่าจะลองทำดู
ผมได้วางแนวคิด ‘เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้’ มานานพอสมควรตั้งแต่ทำงานอีอีซี เรื่องชายแดนภาคใต้นี้คาใจผมมานานแล้วว่าประเทศไทย ยังมีความขัดแย้งไม่สงบสุข”

“จึงปรึกษาทีมงานที่อีอีซี เห็นว่าทำได้ และได้เสนอไปหลายที่หลายผู้นำพรรค แต่ดูเหมือนหลายคนหลายพรรคดูเฉย ๆ ที่เสียใจคือบางคนคิดว่าความขัดแย้งชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องปกติ หรือบอกผมว่าใหญ่เกินไป ยุ่งเกินไป ทำไม่ได้หรอก”

“มีคนถามว่า ทำไมไม่เสนอหลังเลือกตั้ง ผมลองดูหลายครั้งแล้วไม่มีใครสนใจ ผมจึงเห็นว่าการเสนอเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ ผ่านช่องทางการเมือง ในช่วงการเลือกตั้ง จะได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่ กระตุ้นให้คนส่วนใหญ่หันมามอง มาคิดพิจารณาว่า เรื่องนี้ควรทำ หรือจะทำได้หรือไม่ ขณะนี้ผมก็ดีใจระดับหนึ่ง ที่จุดประเด็นเรื่องนี้ให้คนได้คิด และคนส่วนใหญ่ดูเห็นด้วย หากผมทำได้สัก 10-20% ผมก็ดีใจแล้ว ผมได้วางแนวทางไว้แล้ว พรรคไหนเป็นรัฐบาลจะนำไปพิจารณาดำเนินการก็จะดีใจเป็นอย่างยิ่ง”