7 อรหันต์ ป.ป.ช.ค้ำบัลลังก์รัฐบาลทหาร เคลียร์สำนวน “นาฬิกาหรู” ปิดคดีการเมือง

9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์-วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 185 ว่าด้วยการขาดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ 7 ใน 9 กรรมการ ป.ป.ช.ที่ส่อขาดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม พ้นมลทิน

2 คนแรก ได้แก่ 1.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เพราะมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากพ้นจากการดำรงแหน่งข้าราชการการเมืองน้อยกว่า 10 ปี และ 2.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระ

โดยเฉพาะ “พล.ต.อ.วัชรพล” ซึ่งตกเป็นเป้า-ตำบลกระสุนตก ตลอดการกุมบังเหียน ป.ป.ช. ถึงความ “ไม่เป็นอิสระ” เพราะตลอดการเรืองอำนาจของรัฐบาล-คสช. “พล.ต.อ.วัชพล” ได้ดิบได้ดีมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และที่ถูกมองว่า “ใกล้ชิด-สนิทสนม” กับ “ผู้มีอำนาจ” คือ เป็นรองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี-หน้าห้อง”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

ขณะที่อีก 5 คน ซึ่งถูก สนช. 32 คน ยื่นตีความ “ขาดคุณสมบัติ” ได้แก่ 1.นายปรีชา เลิศกมลมาศ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ (เลขาธิการ ป.ป.ช.) ไม่ถึง 5 ปี 2.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่ถึง 5 ปี 3.นายณรงค์ รัฐอมฤต ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. ไม่ถึง 5 ปี 4.นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการมาแล้วน้อยกว่า 5 ปี และ 5.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีไม่ครบ 5 ปี

ข้อกังขาในคำวินิจฉัยของ 1 ใน 9 กรรมการ ป.ป.ช. เพราะโคจรอยู่ใกล้วงอำนาจสูงสุด ยังไม่เท่า “ข้อถกเถียง” ในแง่มุมของกฎหมาย เพราะคำวินิจฉัยของศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิดเสียง-คำโต้แย้ง ระดับ “อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” – “อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” (กรธ.) “สุพจน์ ไข่มุกด์”

“รู้สึกผิดหวังและตกใจ หลังอ่านคำวินิจฉัยในประเด็นที่สมาชิก สนช.ขอให้วินิจฉัยว่า การเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ในส่วนของการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งไม่พ้นกำหนด 10 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนครบวาระ”

“เพราะกรณีดังกล่าว ตนยืนยันในความเห็นที่เคยได้อภิปรายในที่ประชุม สนช. ว่า เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพราะการเขียนกฎหมายลูกแม้จะเป็นหน้าที่ตรงของ สนช. แต่การเขียนรายละเอียดนั้น ต้องไม่มีความใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายแม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นกฎหมายลูกฆ่าแม่ และกลายเป็นกฎหมายลูกทรพีได้”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำวินิจฉัยนั้น จะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมและการเขียนกฎหมายในอนาคต ที่ปรากฏความว่า ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน เพราะกรณีของการเว้นลักษณะต้องห้าม เพื่อให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ถือเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายมีช่องโหว่ และในอนาคตคนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ออกกฎหมาย อาจใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมได้”

แม้กระทั่งก่อนหน้าที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. เคยมีหนังสือ “ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 5 มกราคม 2561 ถึง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. แสดงถึงเหตุผล-ความกังวลเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 185

อีกด้านหนึ่งว่ากันว่า “เป้าใหญ่” ของการออกมา “ตีแสกหน้า” ศาลรัฐธรรมนูญ ของ “สุพจน์” เพราะการต่ออายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปจนกว่าจะมีสภาใหม่ ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับ “ต่ออายุ ป.ป.ช.” ใช้เวลาในการแช่อยู่ศาลรัฐธรรมนูญกว่า 2 เดือน นับตั้งแต่ สนช. 32 คนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เป็นเพียง “พิธีกรรม” เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วาง “บรรทัดฐาน” ไว้แล้วกรณีตีความ “ไม่เซตซีโร่” ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เพื่อ “การันตี” ว่า จะไม่มี “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ไปยื่นตีความคุณสมบัติของ 7 กรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้ง เพราะ “ไม่ใช่ประเด็นใหม่”

ปม-ขัดแย้งในประเด็นคุณสมบัติต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสมัยกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่มี “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” เป็นหัวขบวน ก็เกิดกรณีโต้แย้ง-คัดค้าน คุณสมบัติของ “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช.

เนื่องจากขณะรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด ภายในกำหนด 15 วัน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ข้อ 5 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 11 วรรคสอง

แม้กระทั่ง “วิชา มหาคุณ” อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ที่ถูกพรรคเพื่อไทยคัดค้านในชั้นตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณี “ไม่เป็นกลาง” ในช่วงการเมืองสีเสื้อรุนแรง


เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช.เป็นอันถึงที่สุด 7 กรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นองค์กรค้ำยันอำนาจรัฐบาล-คสช.ต่อไป