“ณพลเดช” ยกข้อกฎหมายเอาผิด “นักร้อง” ปม พิธา ถือหุ้นไอทีวี

ณพลเดช มณีลังกา
ณพลเดช มณีลังกา

ดร.ปิง “ณพลเดช มณีลังกา” ยกข้อกฎหมายเอาผิดนักร้อง ปมพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี เตือนร้องเท็จโทษอาจถึงกบฏ พ้อมองไม่เห็นทางออกประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ความเจริญกันอย่างไร เหตุมีแต่ทำ “นิติสงคราม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 นายณพลเดช มณีลังกา อดีตเลขานุการกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.ปิง ณพลเดช มณีลังกา เกี่ยวกับเรื่องการร้องเรียนต่อ กกต. ปมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีถือหุ้น ไอทีวี ไว้น่าสนใจว่า

ณพลเดช มณีลังกา
ณพลเดช มณีลังกา

…วันนี้ทราบข่าวที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต. กรณีร้องให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เห็นแล้วมองไม่ออกว่าประเทศไทยจะเดินไปสู่ความเจริญกันอย่างไร เพราะมัวแต่ทำนิติสงครามกันแบบนี้

หากพิจารณาแล้วคำพิพากษาล่าสุดเลขที่คดีแดง ลต. สสข 24/2566 ลงวันที่ 2 พ.ค. 2566 กรณีถือหุ้นสื่อตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้วางหลักว่า “การถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร การมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” จึงถือว่าไม่ผิด เป็นกรณีที่คุณชาญชัย ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ถูก กกต. นครนายก ตัดสิทธิ์เป็นผู้สมัคร ส.ส. เพียงเพราะถือหุ้น AIS 200 หุ้น

และนายชาญชัยชนะหลังฟ้องศาลฎีกาพิพากษา จึงไม่ถูกตัดสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ว่าด้วยการถือหุ้นสื่อ โดยหลักแล้วแนวคำพิพากษาจะยึดโยงกันระหว่างศาล ถือเป็นความยุติธรรมอันสูงสุด แต่วันนี้เห็นการกระทำที่นายเรืองไกรนำคำพิพากษาเก่า ๆ ตั้งแต่คำพิพากษาที่ 20/2563 มาให้ กกต.พิจารณา มีเจตนาที่จะทำประการใดอันอาจให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและประเทศชาติหรือไม่ หากพิจารณาความผิดที่อาจเกิดขึ้น หากมองกลับว่าคนร้องควรมีความรับผิดได้เช่นใดบ้าง พิจารณาได้ดังนี้ครับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”

ความผิดตามมาตรา 173 มีองค์ประกอบดังนี้
1.รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
2.แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน
3.ว่าได้มีการกระทำความผิด
4.โดยเจตนา

นายณพลเดชระบุอีกว่า จากกรณีที่นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลถือหุ้นเพียง 42,000 หุ้น แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.0035% ของหุ้นทั้งหมด และมูลค่าในปัจจุบันหุ้นยังติดลบมีมูลค่าเหลือเพียง -56,910 บาท หากผู้ร้องทั้งสองได้ทราบคำพิพากษาล่าสุดว่าไม่สามารถสั่งการสื่อได้ถือว่าไม่ผิดนั้น ก็หมายความว่าผู้ร้องทั้งสอง “รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น…” เป็นองค์ประกอบแรก

การที่ผู้ร้องนำความเข้าแจ้งต่อ กกต. เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน จึงครบองค์ประกอบที่สอง และได้ชี้ให้เห็นว่าผิดโดยมีความพยายามบอกว่า “ผิดหรือไม่” เป็นการยกให้เห็นว่ามีโอกาสว่าได้มีการกระทำความผิด เป็นการครบองค์ประกอบที่สาม และผู้ร้องได้มีความพยายาม เตรียมเอกสารประกอบ พร้อมมาพบ กกต.เป็นครั้งที่สอง ถือเป็นการกระทำโดยเจตนาครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวทุกประการ ผู้ร้องอาจต้องรับผิดตาม ป.อาญา มาตรา 173 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

หากเจตนาข้างต้นมีเจตนา ให้ กกต.ยุบพรรค จากข้อมูลที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปว่าไม่ผิด ดังมีคำพิพากษาได้วางหลักฎีกาล่าสุดไว้แล้ว มีเจตนาล้มล้างเสียงของประชาชนที่มอบให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ใช้อำนาจบริหารในระบอบประชาธิปไตย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (2) มาตรา 137 และมาตรา 326

ทั้งนี้ ในส่วนของความผิดฐานแจ้งความเท็จและเป็นกบฏต่อแผ่นดิน เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ประชาชนทุกคนมีสิทธิกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายครับ หากมีการฟ้องร้องทั่วประเทศต่อนักร้อง อะไรจะเกิดขึ้น ความวุ่นวาย บาปกรรม อาจสนองกลับผู้ร้องนะครับ ถ้าเขาร้องเหนือสุด ใต้สุด ไม่ว่าจะที่เชียงราย หรือยะลา ก็ต้องไปให้การครับ”