เปิดแผลนักการเมืองฝ่ายแพ้ สอบตก-เว้นวรรค ทำเกมเบื้องหลัง

ส.ส.สอบตก

การเลือกตั้ง 66 ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ยกเลิกการเมืองระบบเก่า ที่ใช้กระสุน-กระแส หัวคะแนน ที่ติดป้ายแบรนด์เนมพรรคการเมืองใหญ่ เป็นการกล้าพูดถึงนโยบายก้าวหน้า เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ-การเมืองให้ถึงรากถึงโคน

พรรครัฐบาลเดิม พ่ายแพ้ราบคาบ ส.ส.หลายสมัยเสียแชมป์ บ้านใหญ่ล้มระเนระนาด หลายคนต้องเว้นวรรค-พักผ่อน ออกรอบตีกอล์ฟ ผลการเลือกตั้งที่ออกมา แกนนำหลายคนไม่คาดคิด แต่ไม่เหนือความคาดหมาย

บางคนขอ “เว้นวรรค” ไปเป็น “ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง” ผ่านเฟซบุ๊ก-ไลฟ์สด บางคนถือโอกาสไปพักผ่อน-ท่องเที่ยว ใช้ชีวิตกับครอบครัว-พบปะเพื่อนเก่า และผันตัวไปทำธุรกิจ

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” แห่งพรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย ที่แพ้ศึกเลือกตั้งใน “สงครามครั้งสุดท้าย” ต้อง “หยุดงานการเมือง” ภายหลังพ่ายแพ้เลือกตั้ง จนทนพิษบาดแผลไม่ไหว มีเวลาว่างที่จะส่งลูกไปโรงเรียน แต่ยังเป็น “นักสังเกตการณ์” ทางการเมือง และออกความคิดความเห็นทางบ้านเมืองผ่านเฟซบุ๊ก

ที่สำคัญคือ ยังมี “ส.ส.หน้าใหม่” แวะเวียนไปขอคำปรึกษา-ชี้แนะ ในฐานะเป็น “ผู้อาวุโสทางการเมือง” ในพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุดคือ “ร่มธรรม ขำนุรักษ์” ว่าที่ ส.ส.พัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายของเพื่อนร่วมพรรคเก่าแก่ “นริศ ขำนุรักษ์”

เสาร์-อาทิตย์ก็มีโอกาสแวะเวียนไปสำนักงานกฎหมาย นั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ และฟังเพลง

อีก 1 คนคือ “อันวาร์ สาและ” พรรคพลังประชารัฐ เป็น ส.ส.ปัตตานี 4 สมัย ตั้งแต่ปี’48 กว่า 18 ปีที่ทำงานการเมือง จึงถือเป็น “ประสบการณ์ใหม่” ทำให้ไม่คุ้นชินกับการ “ตกงาน”

การเลือกตั้งที่ผ่านมา “อันวาร์” ถูกหมายหัวจากคนในพื้นที่ปัตตานี เขต 1 เขตเก่าที่เขาผูกขาดการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีคนหวังจะโค่นแชมป์เก่าให้ได้

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ “อันวาร์” ใช้เวลาไปกับการ “พักผ่อน” และพบปะกับมิตร-สหาย เลี้ยงข้าว ออกกำลังกาย-ออกรอบก๊วนกอล์ฟ พร้อม ๆ กับการติดตามข่าวสารบ้านเมือง และไลฟ์สด-รายการท่องเที่ยว และโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่

การเลือกตั้งที่ผ่านมา “อันวาร์” ลงกี่ครั้งไม่เคยแพ้ แต่ต้องมาแพ้ในเขต “บ้านเกิดตัวเอง” แม้จะลงพื้นที่พบปะกับประชาชนในพื้นที่ 130 กว่าเวที แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 47 วัน ทำให้ไม่สามารถชนะใจโหวตเตอร์-คนในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม “อันวาร์” ไม่คิดว่าการย้ายพรรคจากประชาธิปัตย์เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะเขาคิดว่าพรรคเดียวที่จะทำให้การต่อรองเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง คือพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

“ผมเลือกที่จะทำภารกิจให้สำเร็จ แต่การเปลี่ยนพรรคก็ถือว่าเป็นทางหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่มีทางอื่นที่จะทำสำเร็จ ต้องไปสังกัดพรรคนี้ (พรรคพลังประชารัฐ) และผมก็ไป ในส่วนราคาต้นทุนที่ต้องแลกกับการย้ายพรรค ผมถือว่าความสำเร็จอันนั้นแลกกับการที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ผมว่าคุ้ม เพราะมันยากมาก การที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และท่าน (พล.อ.ประวิตร) ก็ให้คำมั่นสัญญาว่า หลังจากนี้ปี’70 จะยกเลิกให้หมดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

อีกคนที่ต้องสังเวยชีวิตการเมืองให้กับการเลือกตั้งตั้งแต่ยังไม่ “ออกรบ” คือ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศก่อนการเลือกตั้งว่า ถ้าได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม คือ 52 ที่นั่งจะ “เลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต”

ทว่า “เฉลิมชัย” ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการตัดสินใจร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลอีกด้วย

นักการเมืองอีกคนที่เปรียบเป็นปูชนียบุคคลทางการเมือง “ชวน หลีกภัย” ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย-ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

การเลือกตั้งที่ผ่านมา “ชวน” ลงพื้นที่ภาคใต้อย่างหนักหน่วง เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ จึงลงไปขอคะแนน “บัตรพรรค” ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น

ทว่าด้วย “กระแส” ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตกลงไปอย่างมาก ประกอบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “สาดกระสุน” กันอย่างดุเดือด ทำให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 3 ที่นั่ง

สิ่งที่ “ชวน” ทิ้งไว้ก่อนจะ “วางมือ” คือ การต่อสายถึง “อดีตศิษย์เก่า” พรรคประชาธิปัตย์ 10 กว่าคน ที่แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่พรรคการเมืองต่าง ๆ ให้กลับมาช่วยกอบกู้วิกฤตของพรรคเก่าแก่ ไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่านี้อีก