“พรเพชร” ส่งกฎหมาย ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ19มี.ค. ไม่ส่งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เหตุจะกระทบโรดแมป

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท้วงติงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสภาวุฒิสภา (ส.ว.) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า สนช.หารือได้ข้อยุติว่า จะส่งให้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจชัยในข้อความที่ขัดแย้งในวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.นี้ เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนตามเจตนารมณ์ของ กรธ. ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจ อีกทั้งเห็นว่า หากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลกระทบถึงความกระทบไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ ก็กระทบถึงการได้มาซึ่ง ส.ว.จึงเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้กระทบกระบวนการ โดยมี สนช.เข้าชื่อเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ รวม 30 คน

“ยืนยันว่าการยื่น พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบโรดแมป เพราะถือเป็นความโชคดี ที่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขยายวันบังคับใช้ 90 วัน ซึ่งคิดว่าศาลพิจารณาได้ทันในกรอบเวลา อาจใช้เวลาภายใน 1 เดือน รวมขั้นตอนธุรการ” นายพรเพชรกล่าว

นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น สนช.เกือบทั้งหมดเห็นว่าตามที่มีข้อทักท้วงจาก กรธ.เช่น เรื่องการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สนช.มีความมั่นใจว่าไม่ได้มีสิ่งใดที่จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะสิทธิเสรีภาพก็มีข้อจำกัดโดยบัญญัติด้วยกฎหมาย ซึ่ง สนช.ได้บัญญัติการจำกัดสิทธิด้วยกฎหมาย ดังนั้น จึงเห็นว่าข้อท้วงติงไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อาจขัดเจตนารมณ์ของ กรธ.

นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนเรื่องการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการในการลงกาบัตรเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการลงคะแนนในคูหาต้องเป็นความลับนั้น แต่สิทธิในการเลือกตั้งเป็นสิทธิที่สำคัญ ผู้พิการประสงค์ใช้สิทธิและต้องการให้ผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียวที่เขาไว้ใจ ถ้าจะเป็นความลับ ต้องเปิดเผยต่อคนสองคนเท่านั้น ทำอย่างไรที่ไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จึงเขียนว่าถ้าทำอย่างนี้เขียนว่าเป็นลับ เพราะไม่ได้เปิดเผยต่อคนทั่วไปที่จะให้ใครดูได้

“ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้อภินิหารทางกฎหมาย แต่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป เช่น บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญา หากทำผิดในราชอาณาจักร แต่มีบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตราหนึ่ง บัญญัติว่า การทำผิดในเรือไทย อากาศยานไทย ให้ถือว่าเป็นความผิดในราชอาณาจักร เครื่องบินการบินไทยไปจอดที่ลอนดอน แล้วมีคนไปทำผิด ไปทำร้ายกันเครื่องบิน ก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายไทย เพราะเราถือให้เป็นความผิดในกฎหมาย สนช.จึงไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และจะส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันจันทร์ที่ 19 มี.ค.เช่นกัน” ประธาน สนช. กล่าว

นายพรเพชรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่มีตัวช่วย 90 เหมือน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะกระทบโรดแมป เพราะจะต้องชะลอกฎหมายเอาไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ไม่สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อยังส่งไม่ได้ก็ต้องล่าช้าไปตามจำนวนวันที่ดีเลย์


“สนช.เห็นว่าควรจะปล่อยผ่านไป แม้จะมีบุคคลอื่นที่เห็นขัดแย้ง และอยากจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็สามารถส่งได้ ถ้าเห็นว่าไปกระทบสิทธิเขา เช่น เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา พรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ที่จะกระทบสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ มีกระบวนการที่จะนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.กังวลว่าจะทำให้โรดแมปเลื่อนออกไปนั้น ถ้ากลัวเช่นนั้นเมื่อกฎหมายประกาศใช้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะยื่นตอนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้จึงไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากกฎหมายดีเลย์การบังคับใช้ 90 วัน ใครที่ไม่อยากให้คนพิการให้ความช่วยเหลือก็ไปยื่นเลยเพราะไม่กระทบโรดแมป รวมถึงกฎหมายบังคับใช้แล้วก็ยังมีเวลา 150 วัน ที่ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่กระทบกับการเลือกตั้ง สำคัญคือต้องยื่นก่อนวันเลือกตั้ง” นายพรเพชรกล่าว