“ธนาธร-ปิยบุตร” ปฏิวัติภูมิทัศน์เศรษฐกิจ ให้หลักประกันชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย

พรรคอนาคตใหม่
เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ทายาทไทยซัมมิท นักธุรกิจหนุ่มหมื่นล้าน พร้อมด้วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์ อย่าง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชักชวนคนรุ่นใหม่ วัยหนุ่มสาว-วัยกลางคน 26 คน ที่ฝันอยากเห็นโอกาส-อนาคตใหม่ เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็น “ผู้ก่อการ” พรรคอนาคตใหม่

หากพรรคอนาคตใหม่เป็น จานสี “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” อาจเปรียบเสมือนเป็น “แม่สี” ที่ผสมทำให้เกิดสีต่าง ๆ ออกเป็นหลายเฉดในหลายเฉดสีจึงรวมเป็น อนาคตใหม่-คนรุ่นใหม่-วิธีคิดใหม่ โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมใหม่

ธนาธร กล่าวถึงการเปลี่ยน “ภูมิทัศน์” ทางเศรษฐกิจ ว่า เราเสียเวลาทางเศรษฐกิจมหาศาล รัฐบาลทหารปกครองประเทศมา 4 ปี เท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใด ๆ บ้าง ซึ่งผมไม่เห็น ต้นทุนความสงบสุขลดลงไป ต้นทุนความสงบสุขในวันนี้เป็นเรื่องฉาบฉวย และต้องจ่ายด้วยการหยุดพัฒนาเศรษฐกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา

“เชื่อว่ามีกลไกต่าง ๆ เยอะแยะมากมายที่ผูกขาด หรือทำให้อุตสาหกรรมหลาย ๆ อุตสาหกรรมกึ่งผูกขาด สิ่งที่อยากจะทำคือการทำลายสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ที่ทำให้ประชาชนที่มีความฝันอยากตั้งบริษัทธุรกิจใหม่ ๆ ของตัวเองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำอย่างไรให้ประชาชนตั้งบริษัทของตัวเองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ไม่ต้องขออนุญาตที่ยุ่บยั่บหลายหน่วยงาน ทำให้คนเหล่านี้มีสิทธิ์ในการไขว่คว้าไล่ตามโอกาสของตัวเอง โดยไม่ต้องจ่ายเงินทุจริตกับเจ้าหน้าที่คนไหน กรอบกว้าง ๆที่อยากจะทำ”

เขาจึงมีผู้ร่วมก่อการ ที่ชื่อ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” นักปรุงเบียร์ นักธุรกิจ เขาเคยถูกตำรวจจับกุมข้อหาผลิตเบียร์เถื่อน

นั่นเพราะอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศไทย ถูก “ล็อก” ด้วยประกาศกระทรวงการคลัง 2543 ให้ทำเบียร์ได้ 2 ประเภท 1.ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี 2.โรงเบียร์ขนาดเล็ก มีลักษณะเป็น Brew Pub ต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตรต่อปี ไม่อนุญาตให้บรรจุขวด

เขาจึงมีความคิดว่า ปัญหาระบบเศรษฐกิจของเราคือการพึ่งบริษัทใหญ่ที่รัฐบาลคอยช่วยเหลือเพื่อแค่ที่จะต้องการตัวเลขที่ GDP ที่สวยหรูเป็นผลงาน แต่มันกลับส่งผลเสียทำให้อำนาจทางการต่อรองทางเศรษฐกิจของประชาชนธรรมดาลดน้อยลง

“ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากมายที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และที่ไม่อัพเดตตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ให้ท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีรายได้พึ่งพาตัวเองและยังทำให้เก็บภาษีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

เช่นเดียวกับ “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการศึกษาประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่ถูกจัดอันดับเรื่องระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก โดยก่อนที่จะเป็นนักวิชาการอิสระ เธอเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สิ่งที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียลมีเดียคือ เธอโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ห้องสมุดไม่ให้เธอเข้า เพราะใส่กางเกงขาสั้น เธอเห็นว่า….ห้องสมุดไม่ควรเป็นพื้นที่ปิดเพราะเครื่องแต่งกาย

เมื่อ “กุลธิดา” ลงเล่นการเมือง เธอจึงอธิบายความฝันของตัวเองว่า “ในฐานะคนเป็นครู ไม่ได้อยากเห็นอะไรไปมากกว่าการที่เห็นนักเรียนมีศักยภาพ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และเป็นผู้ที่มีความสามารถอยู่กับอนาคตได้จริง

ในการนี้ถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งต้องสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงก่อน พื้นที่ที่ปราศจากความกลัว เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง และอยากทำให้นักเรียนไทยรู้จักฝันของตัวเองจริง ๆ เสียที แล้วเมื่อรู้จักฝันแล้ว เขามีเครื่องมือที่จะเดินทางไปทำฝันนั้นให้เป็นจริง มีระบบการศึกษาที่สุดท้ายแล้วเกื้อหนุนผลักดันให้ทำความฝันให้เป็นจริง”

ไม่ต่างจาก “นลัทพร ไกรฤกษ์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ ThisAble.me ประเทศไทย ที่หวังพลิกภูมิทัศน์สังคมให้เกิดความเท่าเทียม ระหว่างคนปกติ กับคนพิการ และเพศภาพ เพราะเธอคิดว่าสังคมไทยยังยอมรับความแตกต่างกันน้อย การมองคนให้เป็นคนอย่างเท่ากัน ทั้งเรื่องเพศภาพ อุดมการณ์ ฐานะ หรือแม้กระทั่งคนพิการ

ที่ผ่านมาคนพิการอาจทำให้ถูกแยกออกจากสังคม ถูกมองอย่างเป็นภาระ แต่ยังคงเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ยังแก้ไขได้ ถ้ารวมคนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในสังคมเกิดขึ้นได้ โดยออกนโยบายที่เอื้อต่อคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้น และซัพพอร์ตคนแต่ละคนในความแตกต่างเหล่านั้นของพวกเขา

ขณะที่ “แม่สี” อย่าง “ปิยบุตร” ตั้งความหวังปฏิวัติภูมิทัศน์การเมืองว่า พรรคอนาคตใหม่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่ประเทศไทย มีวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่หลอมรวมเอาคนที่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่ มีความรู้ความสามารถรวมไว้ด้วยกัน เพื่อลงมือสร้างการเมืองแบบใหม่ และนำเสนอนโยบายแบบก้าวหน้า เน้นการกระจายอำนาจ


นโยบายที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้าถึงทุนและทรัพยากร พัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันอย่างถ้วนหน้าให้กับคนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และจนวันตาย ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย สร้างกฎหมายให้ทันกับยุคสมัย เอื้อต่อธุรกิจรูปแบบใหม่ มิใช่เป็นอุปสรรคขัดขวาง