ไกลก้อง Open Data ประชาธิปไตย “อนาคตใหม่” เจาะชุมชนโซเชียล 44 ล้านเสียง

สัมภาษณ์พิเศษ

บนกระดานการเมือง-สนามเลือกตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” (The Future Forward) ถูกพูดถึงมากที่สุด

“ธนาธร-ปิยบุตร” แกนกลางผู้ก่อตั้ง”พรรคอนาคตใหม่” ประกาศผ่าทางตันจากการเมืองเก่า เป็น “พรรคทางหลัก” ในการเมืองใหม่-เดินตรงสู่ประชาธิปไตย

ชื่อ “ธนาธร-ปิยบุตร” ติดหู-ติดตลาดไม่ทันข้ามเดือน ก่อนจะทยอยปล่อยภาพ-เสียง “26 แกนนำ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อนธนาธร-ปิยบุตร

“ไม่อยากให้เกิดภาพเป็นพรรคธนาธร-ปิยบุตรไปตลอด ไม่ควรจะเป็นในเชิงของบุคคล ควรเป็นเรื่องนโยบาย เป็นพรรคที่เป็นพื้นที่แพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้ามาได้ในระยะยาว ณ วันนี้ พยายามคุยกับหลาย ๆ กลุ่ม ชวนคนที่มีแนวคิดอยากเห็นอะไรใหม่ ๆ ให้เข้ามาทำงานด้วย”

การเมืองของทุกชนชั้น

“ไกลก้อง ไวทยการ” 1 ใน 26 แกนนำผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” เปิดความคิดเบื้องแรก-ทัศนคติการเมืองใหม่กับ “ประชาชาติธุรกิจ” เขามองการเมืองในอดีต-ทะลุมิติการเมืองในอนาคต…

“ภาพการเมืองในอดีตที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่เชิดชูและให้ความสำคัญในตัวบุคคลเป็นหลัก ไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม การเมืองในปัจจุบันถูกทำให้เป็นพื้นที่สกปรก ไม่กล้าเข้าสู่การเมือง คนที่อยู่ในอาชีพการเมืองรู้สึกว่า เป็นคนที่มีความเลวอยู่ในตัว”

“ถ้าคิดว่าเป็นปัญหา…เปรียบเหมือนกับเราต้องการแก้ปัญหาน้ำเน่าในคลอง ถ้าเราไม่เปื้อนน้ำเน่าเราจะแก้ได้ไหม แน่นอนการลงมาย่อมต้องมีจุดปะทะกับปัญหาเดิมและความคิดที่แตกต่าง”

เขาฉีกกรอบความคิดที่มีต่อ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ประกาศตัวเป็น “พรรคของคนรุ่นใหม่” ว่า “คงไม่ใช่ไม่เอาคนรุ่นเก่า แต่เราไม่เอาแนวคิดเก่ามากกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้จำกัดที่อายุว่า 45 ไม่ใช่คนรุ่นใหม่แล้วนะ” (หัวเราะ)

“คนที่คิดวิธีการใหม่ ๆ ได้ตลอด หรือคนที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า คนที่มีกำลังที่จะริเริ่มแก้ปัญหาของตัวเอง ของชุมชน ของสังคมได้ตลอดเวลา ไม่ว่าตัวเองจะมีอายุเท่าไร ถ้ารู้สึกว่า ตื่นขึ้นมาแล้วมีความคิดใหม่ ๆ เข้ามาในหัวได้ ก็ถือว่าอยู่ในภาวะที่เป็นคนรุ่นใหม่อยู่”

เปิดพื้นที่ทางความคิดต่าง

ทว่าแค่เพียงยกแรกของพรรคธนาธร-ปิยบุตรและเพื่อน ก็ถูกสาดโคลนการเมือง-ขุดคุ้ยและเหมารวมว่าเป็น “พรรคล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ”

“เรื่องสำคัญเร่งด่วนตอนนี้ คือ การศึกษา เศรษฐกิจ การทำให้มีพื้นที่ริเริ่มในเรื่องใหม่ การเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ ธุรกิจใหม่ได้เติบโต ความโปร่งใส ทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย แก้กฎหมายลิดรอนสิทธิ-เสรีภาพและไม่เป็นธรรม”

“การปะทะกันทางความคิดเป็นสิ่งที่ดีภายใต้กฎกติกาที่เสมอภาค แฟร์ ขึ้นอยู่กับคนที่เลือกว่า อยากจะให้เห็นประเทศไทยเดินไปในทิศทางไหน”

เขาอธิบาย-ขยายความภาพสะท้อนจากคนภายนอกที่มองว่า พลพรรคอนาคตใหม่เป็นฝ่าย “หัวก้าวหน้า-เสรีนิยม” ตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยม ว่า คำว่า เสรีนิยม คือ การเปิดให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม นิติรัฐ กติกาที่เป็นธรรมกับทุกคน เปิดให้ทุกคนมีเสรีที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ภายใต้กรอบและกติกาที่กำหนดไว้อย่างเสมอภาค

“ที่ผ่านมารัฐบาลนี้มีแนวคิดพยายามปลูกฝังให้เชื่อฟังและทำตาม ดังนั้น จึงอยากเสนอว่า ทุกคนควรมีเสรีที่จะทำสิ่งใดได้ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เสมอภาคและเป็นธรรมกับทุกคน”

แม้ในทางปฏิบัติเขาไม่ปฏิเสธว่า “เป็นไปได้ยาก” ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์-การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกันและเลือกปฏิบัติ แต่เขาเชื่อว่า “มันจะยากกว่านั้นถ้าไม่มีคนพูดเลย” แม้การพูดออกไปบางเรื่องอาจจะส่งผลในด้านลบ-ความเสี่ยงก็ตาม

“เมื่อเข้ามาสู่การเมือง การปะทะทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองก็ต้องมี ถ้าอยู่ในระดับที่ไม่คุกคามต่อชีวิต ร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นจุดที่สามารถรับได้”

“การมีพื้นที่ให้คนถกเถียงกันในเชิงความคิดเป็นเรื่องที่ดี จะทำอย่างไรให้พื้นที่การปะทะทางความคิด ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์เกิดการยอมรับได้ไม่มุ่งไปสู่การสร้างความเกลียดชังระหว่างคนเห็นต่าง”

การเมืองทางตรงกำหนดได้

เขาสเกตช์ภาพแพลตฟอร์มการเมืองในอนาคตควรเป็น “การเมืองทางตรง” ทั้งแบบออนไลน์-ออฟไลน์และทุกคนเข้าถึงได้เพื่อ “เปิดพื้นที่” การมีส่วนร่วมแก้ปัญหา เช่น การออกกฎหมาย การกำหนดงบประมาณ การศึกษาและความโปร่งใส

“หลายประเทศมีปัญหากับประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพราะบางทีไม่ได้สะท้อนความต้องการของทุกคน แล้วทางตรงในบางส่วนจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น การเป็นรัฐบาลแบบเปิด หรือ open government เกิดเป็นไอเดียใหม่ ขนาดใหญ่ (big data) ในการตัดสินใจและลดความขัดแย้ง”

ถึงแม้ว่าบางคำถามยากจะหาคำตอบ ทว่าเขาต้องการเพียงสังคมแบบเปิด-พื้นที่ที่สามารถพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของพื้นฐานของการมีเสรีภาพในการคิด-พูด แม้ปัญหาจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ในชั่วข้ามคืน

“อย่างแรก ต้องเปิดข้อมูลข่าวสารทั้งหมดก่อน (open data) สอง คิดรูปแบบการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เข้าถึงได้ทุกคน เข้าถึงได้โดยง่าย เข้าถึงได้ในหลายรูปแบบ สาม นำผลไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาล”

“ทุกข้อมูลควรเป็นสาธารณะ ยกเว้นข้อมูลส่วนบุคคล มองไปถึงการนำไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มช่องทางธุรกิจใหม่ เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงต้องพิจารณาในบางเรื่อง แต่โดยหลักการควรใช้หลัก open by default หรือ เปิดตั้งแต่เริ่มต้น”

“ผมทำงานในสายพัฒนาสังคมมาเป็นเวลานานตั้งแต่เรียนจบจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น โครงการนำร่อง ต้นแบบ pilot สุดท้ายทุกเรื่องไปติดเพดานที่นโยบาย”

ปลูกวัฒนธรรม “สตาร์ตอัพ”

เขามองทะลุเพดานที่ทำให้ไปไม่สุดเพราะถูกโครงสร้างเดิมครอบไว้ ด้วยระบบรัฐราชการชนิดฝังรากลึก

“อย่างแรก กฎหมาย กฎระเบียบราชการที่มากำกับ-ควบคุม ทำให้การคิดริเริ่มสิ่งใหม่ต่อยอดต่อไปไม่ได้ สอง ไมนด์เซตของคนที่บริหารอยู่ในปัจจุบัน ยึดระบบราชการ-ความมั่นคงเป็นใหญ่ ไม่เอื้อให้กับเรื่องใหม่หรือคนรุ่นใหม่”

“คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การทำให้เกิดพื้นที่ที่สามารถลองผิดลองถูกได้ก่อน แต่เป็นพื้นที่ทางการ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ การลองผิดลองถูกเป็นวัฒนธรรมแบบสตาร์ตอัพ ภายใต้กระบวนการคิดก่อนหน้าว่า สิ่งที่ทำจะสามารถแก้ปัญหาได้”

fail คอร์รัปชั่น fast การเมือง

“วัฒนธรรมแบบสตาร์ตอัพ มีคำว่า fail and fast คือ อะไรที่ไม่ใช่ก็ตัดมันออกไป แล้วปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถหาวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มีในระบบแบบเก่าเพราะต้องรักษาหน้า แต่ระบบแบบใหม่มันมีพื้นที่ลองผิดลองถูกได้ ไปต่อได้หรือไม่ได้ ถ้าไปไม่ได้ต้องรีบเก็บ”

“มีตัวชี้วัดหลายเรื่องที่ fail เช่น การศึกษา คอร์รัปชั่น ล่าสุดรัฐสภาโลกระบุว่า เรามีพื้นที่คนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในรัฐสภาน้อย เป็นตัวชี้วัดระบบโลกว่า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น”

จุดกำเนิดก่อการอนาคตใหม่

“ไกลก้อง” ถูกปลูกฝังแนวคิดทางการเมืองจาก “นักกิจกรรม” รณรงค์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี”40 เป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “ความเชื่อ-เส้นทาง” การเมือง สู่ “พรรคอนาคตใหม่”

“ข้ออ่อนด้อยที่สุดของรัฐธรรมนูญปี”60 คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างจากสภาแต่งตั้ง บ่งบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

เขาเล่าถึงเส้นทางชีวิตตลอด 20 ปีที่ผ่านมาบนสนามการเมืองนอกระบอบรัฐสภา ก่อนที่จะร่วมก่อการขบวนเดียวกันกับ “รุ่นน้องนักกิจกรรม-ธนาธร” เพราะมีความเชื่อ-คมคิดใกล้เคียงกัน

จากอดีตนักกิจกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร สาขาประวัติศาสตร์-สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ภาคเหนือ ทำงานในสายงานพัฒนา-กิจการเพื่อสังคม สู่ผลงานด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่

สู่การ “ชักชวน” เชิงประชดอำนาจรัฐตามเวทีสัมมนา-ระดมความคิด ก่อนตัดสินใจพลิกชะตาชีวิตจากนักพัฒนาสังคมสู่ถนนสายการเมืองและพร้อมกระโจนเมื่อประตูเปิดออก เขาจึงใช้เวลาตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตเพียง 2 เดือน

ปักธงสมรภูมิโซเชียล

“ไกลก้อง” คนรุ่นกลางเก่า-ใหม่ เปิดเบื้องหลังทีมงานรุ่นเก๋า 45 อัพ ที่พร้อมจะมาเป็น “พี่เลี้ยง” และพร้อมที่จะมาช่วยอยู่เบื้องหน้า-เบื้องหลังในอนาคต

“ณ วันนี้ เป็นหน้าใหม่ทั้งหมดบนเวทีการเมือง แต่บางคนอาจจะเห็นหน้าเห็นตาในบางประเด็นทางโซเชียลมีเดียในพื้นที่ที่ทำงานกันอยู่ในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ บนเวทีต่าง ๆ”

ด้วยความเป็น “พรรคน้องใหม่” เขาจึงยังไม่คิดว่าในอนาคตจะทำอย่างไรให้ได้ ส.ส.เข้าไปในสภา-ออกเสียงตามนโยบายที่คิดไว้ แต่ก็มีทีมงาน think thank และทีมงานลงพื้นที่ในชุมชนที่ทำงานด้านสังคมมาก่อนหน้านี้

“พื้นที่โซเชียลจะเป็นส่วนหนึ่ง ในเฟซบุ๊กมีคน 44 ล้านแอ็กเคานต์ของคนไทย จึงเป็นพื้นที่หลักที่เราต้องทำงานด้วย”

เขาเตรียมตัว-เตรียมใจรับมือกับกำแพงมหึมาของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาล-คสช.แต่ก็ออกตัวว่า คงไม่คิดให้ก้อง-ฝันไกลเหมือนชื่อ-ไกลก้องถึงการเป็นรัฐบาล

“วันนี้ยังไม่คิดไปถึงการเป็นรัฐบาล แต่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติเพราะรัฐธรรมนูญ 60 กำหนดไว้ แต่ต้องถามย้อนกลับว่า แล้วยุทธศาสตร์ชาติมาจากสิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเห็นด้วยหรือเปล่า ในอีก 20 ปี ใช้ได้จริงในฐานะเป็น 1 ในประเทศประชาคมโลกหรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะทำยังไงต่อ แล้วยุทธศาสตร์ชาติที่ประเทศไทยและคนไทยอยากไปจริง ๆ มันไปด้วยกันได้ไหม”