แกะงบฯกลางปี 1.5 แสน ล. เจาะฐานเสียงทุกหมู่บ้าน

เมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “งบฯกลางปี” เข้าสู่การอนุมัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เป็นงบฯที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งใจให้งบฯกระจายลงสู่ชุมชน ประชาชนฐานราก

ในจังหวะการเมืองที่นับถอยหลังเลือกตั้งเต็มแก่ นักเลือกตั้ง หน้าเก่า หน้าใหม่ พรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคกลาง แม้กระทั่งพรรคเล็กที่ต้องการเก้าอี้ในสภา ต่างทำคะแนนในพื้นที่อย่างคึกคัก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ อนาคตของตัวเองบนสนามการเมือง ไม่แปลกที่รัฐบาลจะใช้งบฯกลางปีซื้อใจฐานรากในต่างจังหวัด

แถมยังเป็น “ผลงาน” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เอาไว้โชว์ในยามลงพื้นที่ต่างจังหวัดทุกเดือน

โดยในส่วนของ “งบฯกลางปี” ก้อนนี้ก็ผนวกเอา “งบฯไทยนิยมยั่งยืน” 2 พันล้าน เพื่อเลี้ยงอาหารประชาชนที่มาร่วมรับฟัง อันเป็นแผนของกระทรวงมหาดไทย ที่ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เจ้ากระทรวงเอาไว้ด้วย

งบฯก้อนนี้จึงเป็นทั้งงบฯพัฒนาและงบฯการเมือง

เมื่อแกะไส้ใน จะพบ 3 ยุทธศาสตร์ในการทำงบฯกลางปี 1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 24,300,694,500 บาท

เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต

คู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตและราคา ส่งเสริมตลาดสมัยใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร

2.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057,382,500 บาท

จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสม

กับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสร้างอาชีพในชุมชน สร้างความเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น (เมืองรอง)

ในจำนวน 150,000 ล้านบาท แบ่งตามกระทรวง จะปรากฏภาพดังนี้

งบฯกลาง 4,600,000,000 บาท กระทรวงการคลัง 5,325,000 บาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 106,291,000 บาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 22,742,165,700 บาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 72,000,000 บาท

กระทรวงพาณิชย์ 258,400,300 บาท กระทรวงมหาดไทย 31,875,769,000 บาท กระทรวงแรงงาน 2,120,025,400 บาท

กระทรวงวัฒนธรรม 68,118,500 บาท กระทรวงอุตสาหกรรม 498,602,100 บาท รัฐวิสาหกิจ 3,988,866,800 บาท

กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 34,022,513,200 บาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,641,923,000 บาท

นับจากนี้ รัฐบาลเดินเกมโกยแต้มเต็มสูบ