“เอนก” ปฏิรูปประชาธิปไตย คนไทยไม่ภักดีการยึดอำนาจ-คสช.อยู่นานไม่ได้

พรรคการเมืองหน้าใหม่เปิดตัวอย่างคึกคัก ส่วนพรรคเก่า ซุ่มทำคะแนนโค้งสุดท้าย ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำ คสช. ยังไม่ปฏิเสธโอกาสกลับมาเป็นประมุขฝ่ายบริหารบนสนามประชาธิปไตยปกติ ปล่อยให้ผู้คนเดาต่อไปว่านายกฯนายพลจะต่อตั๋วอำนาจหรือไม่

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ผู้คร่ำหวอดทั้งในด้านวิชาการ-การเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ข้อเสนอของเขา สิ่งที่นักการเมืองที่จะลงสนามควรทำเพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤต

Q : หัวใจของแผนปฏิรูปการเมือง

มี 5 ภารกิจ 1.เปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนให้เป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มากขึ้น เน้นให้ประชาชนตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อบ้านเมือง และประชาธิปไตย ไม่ใช่มีแต่สิทธิ และเรื่องผลประโยชน์

2.ขยายบทบาทให้ชุมชน ประชาสังคม ฝึกฝนคนให้มีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมโดยตรงกับประชาธิปไตย

3.ใช้หลักธรรมของศาสนาทุกศาสนา มากำกับนักการเมือง กำกับประชาชน กำกับข้าราชการ กำกับผู้นำ รวมถึงธรรมะที่เป็นของฆราวาส เช่น ความถูกต้อง มากำกับ

4.ต้องสร้างกลไกกติกา วิธีทำงานที่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมนำไปสู่คุณประโยชน์ของส่วนรวม แต่ไม่นำไปสู่ความแตกหัก การทำลายล้าง

5.ต้องทำอย่างเร่งรีบ คือ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตยุติธรรม ให้เกิดพรรคการเมืองให้กลายเป็นสถาบันหลักของสังคม ไม่ใช่เป็นพรรคของคนไม่กี่คน หรือคนคนเดียว ต้องมีนโยบาย นอกจากเป็นผลดีของประเทศ ต้องไม่ทำให้เกิดความหละหลวมทางการเงินการคลัง

Q : การฝึกประชาชนต้องใช้เวลา แต่ภารกิจเร่งด่วนคือการเลือกตั้ง จะทำให้ลงล็อกกันได้อย่างไร

ต้องอาศัยเวลา เรื่องที่เร่งด่วนต้องทำ แต่ต้องไม่ละสายตาจากเรื่องมูลฐาน เราต้องถ่อมตัวที่ว่าการเลือกตั้งครั้งแรกคงยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีจุดอ่อนอยู่ แต่ต้องมั่นใจ มุ่งมั่นที่จะทำงานมูลฐานให้ดีเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปทำได้ดียิ่งขึ้น

Q : การเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารหน้าตาจะเป็นอย่างไร

โอกาสที่จะมีพรรคใหม่มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ บางพรรคใหม่แต่ชื่อ แต่ภารกิจอาจไม่ได้ก้าวหน้า แต่จะมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ ที่เริ่มคิดจะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงประเทศ เช่นพรรคอนาคตใหม่ของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคของอดีต กปปส.ที่นำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เห็นคุยหลายวงการ

ส่วนพรรคเก่าที่สำคัญ 2 พรรค เพื่อไทย เขามีความมั่นใจว่าได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 200 เสียง หวังว่าจะถึง 250 หรือเกิน 250 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความมุ่งมั่นสูงอาจจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้ จึงต้องยืนเสียงเดิมเอาไว้ ป้องกันไม่ให้พรรค กปปส.แย่งคะแนนภาคกลาง ภาคใต้ ไป

พรรคภูมิใจไทย เขามั่นใจเพราะมีคะแนนดีในภาคอีสาน และการเลือกตั้งครั้งหลังเขาได้ที่ 2 ในทุกเขต เมื่อก่อนได้ที่ 2 เท่ากับศูนย์ แต่ครั้งนี้ได้ที่ 2 คะแนนก็ไปรวมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น เขาก็มั่นใจว่าจะได้ 60-70 เสียง และยังไม่มีคำตอบว่าจะร่วมกับใคร พรรคชาติไทยพัฒนา มั่นใจว่าต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อย ส่วนพรรคชาติพัฒนา ก็มั่นใจของเขา

Q : โครงสร้างของรัฐบาลใหม่เป็นแบบไหน

คิดว่ายากที่จะเกิดรัฐบาลพรรคเดียวที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสแต่ก็ไม่ง่าย และโอกาสที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลโดยดึงพรรคอื่น ๆ มาร่วมก็ไม่ง่าย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์โอกาสเป็นรัฐบาลก็มีอยู่

ส่วนโอกาสที่พรรคกลาง ๆ มารวมกันแล้วร่วมกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 2-3 พรรค ก็มีโอกาสเป็นไปได้

แต่พรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสสำคัญ เพราะมีโอกาสตั้งรัฐบาลได้โดยมีพรรคอื่นสนับสนุน รวมถึงพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเสียงไม่ดีก็อาจจะหันมาสนับสนุนนายกฯจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่คนนั้นจะเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชวน หลีกภัย หรือคนอื่น ก็เป็นเรื่องของพรรค

ส่วนพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แน่ใจเลยว่าได้เสียง 200 ขึ้นไปจากเสียงของ ส.ว.ที่มีอยู่แล้ว 250 เสียง ดังนั้นแค่รวมเสียงเพิ่มอีก 150 เสียงก็ได้แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ได้เสียงในสภาเกินครึ่ง ไม่ให้ทำงานลำบาก

Q : รัฐบาลแบบไหนดีต่อการปฏิรูป

ที่จะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปคือการรอมชอมกัน ถึงเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องรอมชอมกับ ส.ว.และพรรคฝ่ายค้าน เพราะคะแนนเสียงจะหมิ่นเหม่ ถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ยิ่งจะต้องรอมชอมกับพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรอมชอมกับ ส.ว. ส่วนพรรคทหารที่นิยม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาล ก็ต้องรอมชอมกับ ส.ว.ให้ดี จะไปสั่งอะไรมากอาจจะต้องลดลง และต้องเอาใจ ต้องพยายามไม่เป็นศัตรูกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเอาพรรคประชาธิปัตย์ร่วมเป็นรัฐบาลต้องให้ตำแหน่งแห่งหนพอสมควร

Q : ผลงานของอาจารย์อาจถูกมองว่าเป็นมรดก คสช.จะทำอย่างไรให้ได้รับการยอมรับ

ผมว่าเขาซื้อได้ทุกข้อ 5 ข้อ ทุกพรรคเอาไปทำได้หมด แค่ 5 ปีเอง จากนั้นนักการเมืองก็ทำเอง แต่อะไรที่ดี ๆ ในเมืองไทยหลายอย่างเกิดขึ้นโดยระบอบที่เราไม่ชอบ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ ทำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ใช้อำนาจมาตรา 17 การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็วางโดยจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้น แผนไหนไม่ดีก็เขียนใหม่

Q : นักวิชาการพรรคการเมือง มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรค และไม่พ้นการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ลุล่วงโดยไม่มีการยึดอำนาจอีกเป็นเรื่องดีที่สุด ถ้าต้องการคะแนนเสียงมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรณรงค์ให้ได้คะแนนเสียงมาก ไม่ใช่คิดว่าจะต้องกลับมายึดอำนาจอีก ประเทศไทยเต็มไปด้วยความเห็นแบบนี้ เพราะในประเทศไทยคนไม่ได้มีความจงรักภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยมากนัก พอ ๆ กับที่คนไทยไม่ได้รังเกียจระบอบเผด็จการมากนัก เป็นคนที่ใช้สองระบบสลับกันไปมาได้ แต่ต้องสลับกันไปมาไม่ใช่อยู่ยงคงกระพันระบอบใดระบอบหนึ่งเตือนเอาไว้ว่าใครที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งแล้วเป็นรัฐบาล อย่าประมาท คิดว่าประชาธิปไตยมั่นคงแล้ว อย่าไปมั่นใจ คลายความระมัดระวัง ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น นานขึ้น อยู่ให้ได้นานขึ้น

ส่วนในเวลานี้ ระบอบนี้ซึ่งมีนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รอการเลือกตั้งอยู่ ก็อย่าไปคิดว่าจะอยู่แบบนี้ได้อีกนาน และอย่าไปคาดหวังว่าประชาชนจะจงรักภักดีต่อระบอบยึดอำนาจ ปกครอง หรือกองทัพสนับสนุน ก็ไม่ธรรมชาติของการเมืองเป็นทวิลักษณ์ 2 แบบ

Q : พรรคการเมืองควรปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับรัฐธรรมนูญใหม่

ต้องทำให้พรรคตนเองเป็นสถาบัน พรรคประชาธิปัตย์ต้องยกระดับให้มากกว่านี้ ต้องสนใจภาคอีสาน ภาคเหนือ สนใจที่จะทำให้ประชาชนชั้นล่างมีความมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำงานรับใช้พวกเขา และต้องปรับความสัมพันธ์กับทหารให้ราบรื่นพรรคเพื่อไทย ต้องทำให้เป็นสถาบันมากขึ้น คุณทักษิณ ชินวัตร ต้องมีบทบาทน้อยลง เอาคนที่ดีของพรรคเพื่อไทยมาทำ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีดุลยภาพ ต้องคำนึงตลอดเวลาคือคนชั้นกลาง คนชั้นสูง ทหาร กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตยต้องทำงานร่วมกับส่วนนี้ ไม่ใช่มีแค่ประชาชนกับนักการเมืองเท่านั้น

สำหรับพรรคเล็ก ๆ พรรคกลาง ๆ ต้องคิดว่าอะไรที่พรรคใหญ่ ๆ ไม่ได้ทำ เป็นช่องว่าง พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กต้องพยายามทำ แข่งกันแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ไม่ริษยากัน ดีที่สุดต้องร่วมมือกัน

Q : การเมืองในอุดมคติคือแบบไหน

เป็นรัฐบาลสามฝ่าย คือรัฐบาลที่นิยม พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลประชาธิปัตย์ และรัฐบาลเพื่อไทย ถ้าสามส่วนนี้จับมือกัน และร่วมกับพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง เป็นรัฐบาลผสมขนาดใหญ่มากอย่างน้อย 2 ปี จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าเราอยู่ร่วมกันได้ พรรคการเมืองทั้งหลายต้องทำให้คนเห็นว่าทำงานร่วมกันได้

Q : แต่โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลรูปแบบนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้

นักการเมืองเชี่ยวชาญทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ การเมืองคือศาสตร์ เช่น ปลาย ๆ สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อกับ พล.อ.เปรม ก็ทำเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้ คือหันไปคบจีนซึ่งเป็นศัตรูกับเรามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อรบกับเวียดนาม สกัดเวียดนามไว้ที่ชายแดนไทย กัมพูชา นี่เป็นเรื่องที่ยากมาก อย่ามาพูดมากว่าทำไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นให้ลาไปอยู่บ้านเฉย ๆ

จึงคิดว่านักการเมืองทั้งหลายที่กำลังเข้าสู่สนามตอนนี้ ต้องพยายามเป็นรัฐบุรุษ เพราะไม่ใช่แค่ใครจะชนะการเลือกตั้ง แต่ยังมีภาระว่าทำอย่างไรให้ประเทศพ้นจากระยะเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง ประชาธิปไตยที่ยังมีคนชั้นกลาง คนชั้นสูง ทหารมีบทบาทในสังคม และฝ่ายชนชั้นกลาง ชนชั้นล่างเจริญเติบโตมากขึ้น เป็นคะแนนเสียงมากขึ้น ต้องทำให้ได้ และอย่าพูดบ่อยนักว่าลำบาก ลำบากก็อยู่บ้าน ต้องมีใครสักคนต้องเป็นตูน บอดี้สแลม ทางการเมืองขึ้นมา

Q : พล.อ.ประยุทธ์มีแววหรือไม่

ผมดูการปรับตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับตัวก็โอเค คุยกับชุมชน ชาวบ้าน ก็ทำได้ ชีวิตความเป็นอยู่ พื้นฐานเดิมก็ทำให้เข้าใจประชาชนได้เยอะ ไม่ได้มาจากชนชั้นที่สูงลิ่ว และการเป็น

ทหารทำให้เผชิญกับชีวิตต่างจังหวัด ก็มีโอกาส แต่ไม่ได้พูดด้วยความแน่ใจว่าทำได้ ภาวนาให้ทำได้ คุณอภิสิทธิ์ก็อยากให้ปรับ พรรคเพื่อไทยจะเป็นคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณโภคิน พลกุล คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็อยากให้ทำเต็มที่เกินความสามารถ เกินความพยายาม แบบนี้บ้านเมืองจะไปได้