“ยิ่งลักษณ์”ร่างแถลงปิดคดีเอง ทนายคาดกระชับไม่เกิน1ชม. ศาลเข้มตรวจอาวุธ-กั้นแผงเหล็ก-แลกบัตร

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม เป็นวันแถลงปิดคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจาว่าเนื้อหาในการแถลงปิดคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นผู้จัดทำถ้อยคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาด้วยตนเอง ส่วนจะมีความยาวมากน้อยแค่ไหนนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบ แต่คาดว่าไม่เกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ระหว่างการจัดทำถ้อยคำอยู่ คาดว่าถ้อยคำจะไม่ยาวหรือสั้นมาก จะมีความกระชับเช่นเดียวกันกับตอนแถลงเปิดคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการศึกษาเรื่องการอุทธรณ์คดีไว้ หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องดังกล่าว คิดแต่ว่าเราจะทำในขณะนี้ให้ดีและสุดความสามารถที่เราทำได้ ส่วนเรื่องคำร้องที่เรายื่นให้ศาลฎีกาฯนักการเมืองส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อกฎหมายนั้นจะต้องดูในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) ว่าศาลฎีกาฯจะมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนเรื่องที่เราจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเองโดยตรงหรือไม่นั้น เบื้องต้นพบว่ากฎหมายยังไม่เปิดช่อง แต่กำลังศึกษาในประเด็นนี้กันอยู่เช่นกันว่าจะมีช่องทางทำได้หรือไม่

นายนรวิชญ์อธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการอุทธรณ์คดีในศาลฎีกาฯนักการเมืองทั้งที่ยังไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฏหมายลูก ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 วรรค 4 และวรรค 5 อนุญาตไว้ชัดเจนว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรค 4 ให้ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจํานวน 9 คน เมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แม้จะยังไม่มีการออกกฎหมายลูกมา แต่หากออกมาแล้วแนวทางของกฎหมายลูกย่อมไม่สามารถขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ และจะต้องเป็นไปแนวทางเดียวกัน เป็นไปตามกฎหมายว่าสิทธิในการอุทธรณ์ย่อมสามารถกระทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเตรียมความพร้อมของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันนัดแถลงปิดคดีด้วยวาจาคดีรับจำนำข้าว วันที่ 1 สิงหาคม เวลา 09.30 น. การดูแลรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณอาคารศาล ถนนแจ้งวัฒนะนั้น ทางศาลได้ประสานฝ่ายตำรวจแล้วในการจัดกำลังพลมาดูแล มี สน.ทุ่งสองห้อง เป็นหลัก และมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและส่วนที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้การจัดสรรกำลังพลขึ้นอยู่กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนภายในอาคารศาลจะมีเจ้าหน้าที่ รปภ. หลาย 10 คนของศาล กระจายกำลังรักษาการณ์ตามจุดทางเข้าอาคารศาล และทางเข้าห้องพิจารณาคดี รวมทั้งนำแผงเหล็กมากั้นเพื่อเป็นช่องทางเข้าออกทางเดียว บริเวณหน้าอาคารศาลด้วย ซึ่งการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ รปภ.และแผงเหล็กกั้นส่วนนี้ เป็นไปตามโมเดลปกติที่เคยจัดหาไว้ระหว่างการพิจารณาคดี

ขณะที่ภายในอาคารศาลบุคคลที่จะผ่านเข้าออกเพื่อไปห้องพิจารณาคดีจะต้องผ่านจุดเครื่องสแกนตรวจอาวุธด้วย ผู้ที่จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีนั้นจะต้องนำบัตรประชาชน มาแลกบัตรเข้า-ออกของศาลกับเจ้าหน้าที่ รปภ. ณ จุดแลกบัตรบริเวณแผงเหล็กกั้นทางเข้าศาล โดยบัตรนั้นจะมี 2 สี คือ สีเหลืองสำหรับประชาชนทั่วไป และสีเขียวสำหรับสื่อมวลชน โดยห้องพิจารณาคดีของศาลนั้นสามารถรองรับประชาชนที่จะร่วมเข้าฟังได้ประมาณ 100 คน และการจัดสรรที่นั่งสำหรับสื่อมวลชนเบื้องต้นประมาณ 30 คน โดยขณะนี้ในส่วนของการแถลงปิดคดีด้วยวาจา ศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถ่ายทอดเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงออกจากห้องพิจารณาคดีมายังภายนอกอาคาร

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงปิดคดีด้วยวาจานั้น จะใช้เวลานานเท่าใดขึ้นกับฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยขั้นตอนคงมีเพียงการแถลงปิดคดีด้วยวาจา และมีความเป็นไปได้ที่องค์คณะฯ จะมีคำสั่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ศาลไม่ส่งประเด็นโต้แย้งข้อกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงเวลาไม่เกิน 12.00 น.

ทั้งนี้สำหรับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ปี 2551, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ในวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาฯ จะใช้โมเดลการรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยบริเวณเช่นเดียวกับคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์

 


ที่มา : มติชนออนไลน์