
เคาะ กมธ.รอบ 3 จบแล้ว หลังประชุมนานกว่า 2 ชม. นัดส่งรายชื่อ 27 ก.ย. ส่วน 28 ก.ย. นัดถกครั้งแรก
วันที่ 21 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ว่า พรรคการเมืองใดจะได้ประธาน กมธ.ชุดใด
โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมจัดสรรโควตา กมธ.นั้น มีการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ต้องมีการพิจารณาครั้งที่ 3 ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเตรียมกล่องสี่เหลี่ยมใส บรรจุไข่สีทองจำนวน 35 ใบ และสีน้ำเงินจำนวน 8 ใบ
ทั้งนี้ ภายหลังจากพักการประชุมห้องใหญ่ เพื่อไปประชุมกันห้องเล็กเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อพูดคุยกันว่าจะสลับว่า พรรคใดจะได้คณะใด ซึ่งนายพิเชษฐ์ได้เข้าไปพูดคุยด้วยในช่วงหลัง จนกระทั่งถึงเวลา 15.40 น. นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เข้าไปประชุมด้วย ได้เปิดเผยว่า
ขณะนี้ กมธ.ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียง 2 คณะคือ กมธ.กระจายอำนาจฯ และกมธ.การแรงงาน ซึ่งพรรค ก.ก. และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต้องพูดคุยกัน โดยบรรยากาศการพูดคุยกันเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น หลังจากนั้นทุกคนได้เข้าหารือต่อในห้องประชุมใหญ่
ต่อมาเวลา 16.16 น. การประชุมได้เสร็จสิ้น โดยนายพิเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ใช้เวลานานมาก แต่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าว โดยในวันที่ 27 กันยายนนี้ ทุกพรรคจะเสนอรายชื่อประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะ และในวันที่ 28 กันยายน จะเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อจะเลือกประธาน รองประธาน เลขาฯ และโฆษก กมธ.ทุกตำแหน่ง
ซึ่งจำนวน กมธ.ได้ตามสัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรค แต่จะมีบางคณะ เช่น กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สิน และ กมธ.ติดตามราคาพืชผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญกว่าที่ในที่ประชุมเห็นว่าควรเปลี่ยนเป็นภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของพรรค ก.ก. ปัจจุบันได้ 11 คณะตามสัดส่วน ส.ส. เพราะนายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ส.ส.ระยอง ได้รายงานตัววันนี้จึงครบตามสัดส่วนพอดี
รายชื่อโควตาประธาน กมธ.
ก้าวไกล 11 คณะ ได้แก่ 1.กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ 2.กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ 4.กมธ.สวัสดิการสังคม 5.กมธ.การทหาร
6.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 7.กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ 9.กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม 10.กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน และ 11.กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค
เพื่อไทย (พท.) 10 คณะ คือ 1.กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 2.กมธ.การคมนาคม 3.กมธ.การท่องเที่ยว 4.กมธ.การสาธารณสุข 5.กมธ.การต่างประเทศ 6.กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 7.กมธ.กิจการสภาผู้แทนฯ 8.กมธ.การสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 9.กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด 10.กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน
ภูมิใจไทย (ภท.) 5 คณะ คือ 1.กมธ.การศึกษา 2.กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ 3.กมธ.การปกครอง 4.กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย และ 5.กมธ.การแรงงาน
พลังประชารัฐ (พปชร.) 3 คณะ ได้แก่ 1.กมธ.กีฬา 2.กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และ 3.กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม
ประชาธิปัตย์ (ปชป.) 2 คณะ ได้แก่ 1.กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา และ 2.กมธ.การตำรวจ
รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 2 คณะ ได้แก่ 1.กมธ.การกิจการพลังงาน และ 2.กมธ.การอุตสาหกรรม
ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 1 คณะ คือ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
พรรคประชาชาติ (ปช.) 1 คณะ คือ กมธ.การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
สำหรับ กมธ.กิจการศาลฯ มีพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ แบ่งกันเป็นประธาน กมธ.คนละครึ่ง
ข้อมูล : ข่าวสด