“ปณิธาน” : ทหารไม่อยู่ในลู่เลือกตั้ง คสช.ลุ้นรอรับไม้สุดท้าย…เข้าเส้นชัย

สัมภาษณ์พิเศษ

ความคึกคักของพรรคการเมืองเก่า-ใหม่จำนวนนับร้อยพรรค ต่างขยับเขยื้อนเมื่อ คสช.ปลดล็อก 1 สเต็ป ให้ดำเนินธุรการทางการเมืองได้เพื่อนำไปสู่โหมดการเลือกตั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” นักรัฐศาสตร์-ความมั่นคง จากรั้วจุฬาฯ ปัจจุบันสวมหมวกที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าใหญ่กุม-คุมความมั่นคงขณะนี้

Q : ประเมินสถานการณ์หลังรัฐบาล คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง

ตอนนี้ต้องประเมินสถานการณ์ความมั่นคงและการเมืองแยกออกจากกัน งานความมั่นคงในขณะนี้เป็นงานทำพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเดินไปสู่การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นงานความมั่นคงจะแยกออกจากงานการเมืองระดับหนึ่ง แต่ไปด้วยกันเมื่อเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้น ไม่ให้มีกลุ่มฉวยโอกาส หัวรุนแรงเข้ามาใช้พื้นที่ เป็นการเอาการเมืองออกจากฝ่ายความมั่นคง

ก่อนการเลือกตั้ง ทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมืองต้องเดินทางหาเสียงได้ทุกภาคทั้งในพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือนจริง กติกาต้องชัดเจน หากมีข้อกังขาต้องแก้ไข ฝ่ายความมั่นคงจะไม่เข้าไปดู ยกเว้นเกิดความขัดแย้งรุนแรง ระหว่างเลือกตั้ง เข้าคูหาเลือกตั้ง การเดินทางไป-กลับ เป็นหน้าที่ กกต.อยู่แล้ว แต่ฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าไปดู เป็นผู้ช่วย เพื่อความปลอดภัยหลังเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล มีความซับซ้อนกว่าในอดีต การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ต้องใช้เวลานับคะแนนเพราะนับทุกคะแนนจึงต้องรักษาพื้นที่นี้ไว้ ทั้งหมดนี้เป็นงานของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องแยกออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง ส่วนพื้นที่ทางการเมืองพรรคการเมืองแข่งขันกันเต็มที่

Q : ประเมินว่าสถานการณ์การเลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวาย

ทุกสังคมอาจมีคนพยายามฉกฉวยประโยชน์ สร้างความวุ่นวาย ต้องแยกกลุ่มเหล่านี้ออกจากกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยดังนั้นการจัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของและเดินไปสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองเก่า-ใหม่จำนวนเกือบ 100 พรรค นิสิตนักศึกษาและกลุ่มพลังต่าง ๆ มีพื้นที่ปลอดภัยการจัดพื้นที่รูปแบบลักษณะนี้ยาก ถ้าคนจัดเกี่ยวข้องกับการเมือง ฝ่ายตรงข้ามจะไม่ไว้ใจ มองว่าได้เปรียบเสียเปรียบ ประโยชน์ทับซ้อน แต่ตอนนี้มีความชัดเจนแล้ว หนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งก่อน เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ คนปัจจุบันไม่มีพรรคการเมือง ไม่ได้ประกาศตัวว่าจะลงเลือกตั้งแข่ง แต่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ซักซ้อมขั้นตอน กติกาในการใช้พื้นที่ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า ไม่ไปทะเลาะกันในพื้นที่เพียงเพื่อต้องการเอาแพ้-ชนะกันแต่มาทำพื้นที่กลาง ๆ

Q : แนวโน้มการเลือกตั้งถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

อาจมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เอาใครเลย พรรคการเมืองกว่าร้อยพรรคมีความหลากหลาย ถ้าไปจัดสองกลุ่มหลวม ๆ ว่า เอา-ไม่เอาทหาร เป็นแนวคิดของคนการเมืองแบบเดิม คือ เขาและเรา ชนะและแพ้ Either or เอาเขาหรือเอาเรา การเมืองไม่ได้แคบหรืออยู่ตรงที่ว่าเอาคุณประยุทธ์ หรือ ไม่เอาคุณประยุทธ์

การถูกกำหนดโดยคนการเมืองแบบเก่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บางกลุ่มอาจกังวลว่า เอ๊ะ รัฐบาลได้เปรียบ จึงต้องมีกลไกการรับฟัง ตรวจสอบให้เกิดการยอมรับ แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มที่จะตั้งพรรคการเมืองหรือประกาศลงเลือกตั้ง

Q : มีความเคลื่อนไหวของคนรอบตัว

พล.อ.ประยุทธ์ในรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เป็นนายกฯต่อ

ขณะนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งก่อน ถ้าไม่ได้ก็ยังมีช่อง แต่ช่องนี้ยาก…ในการเดินและบริหาร ต้องเป็นธรรมกับรัฐบาล คสช. ไม่ดึงไปเป็นคู่ขัดแย้ง

Q : การจัดพื้นที่ปลอดภัยอย่างไร ไม่ให้ถูกปิดกั้น-ไม่เป็นอิสระ

บางกิจกรรมทำได้แล้ว การขึ้นเวทีที่หลากหลายก็ทำได้ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ทำกันอยู่ตลอด มีบางกติกา เช่น การบิดเบือนทำให้คนสับสน ก็มีคำสั่ง ข้อห้าม กฎหมายใหม่รองรับอยู่

หลายประเทศต้นแบบประชาธิปไตย เช่น การประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ มีการบิดเบือน ให้ข้อมูลด้านเดียว fake news เพราะไม่มีพื้นที่ปลอดภัย

Q : การเลือกตั้งฝ่ายความมั่นคงจะเข้มงวดมากขึ้น

ใช่ ในภาพรวมจะมากขึ้นเพราะเปิดพื้นที่มากขึ้น กิจกรรมทางการเมืองร้อยกว่าพรรคมากขึ้น แต่คำสั่งก็ต้องคลายตัวลงเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

Q : รูปธรรมการคลายตัวที่จะทำให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันความมั่นคงก็จะบีบรัด

หนึ่ง ฝ่ายความมั่นคงจะดูแลไม่ให้ใช้เกิดการกำลัง ไม่ให้มีคนเข้ามาแทรก ไม่ให้มีคนมาฉวยโอกาสใช้พื้นที่นี้ก่อความรุนแรง ไม่ให้มีใครจัดกำลังมาปะทะกัน พรรคการเมืองก็ว่าไปตามกติกาเลือกตั้ง

สอง การยั่วยุให้คนไปเผชิญหน้ากันด้วยข้อมูลเท็จจริงด้านเดียว เกิดความรู้สึกต่อต้านกฎหมาย ออกมาปะทะกัน ทำไม่ได้ เมื่อก่อนไม่มีข้อห้าม heat speed ข้อมูลด้านเดียว บิดเบือน

Q : อาจถูกมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามทิศทางที่รัฐบาล คสช.กำหนด

พลังของสังคมไทยเข้มแข็งและหลากหลาย ทหารหรือพรรคการเมืองใหญ่ที่ว่ามีความนิยมสูงสุดก็ไม่สามารถกำหนดได้ทั้งหมด เพราะมีพลังต้านเยอะ ไม่ว่าใครจะเข้ามา แต่บางช่วงจังหวะมันสูง เร็ว แรงมากจนเกิดวิกฤตขึ้นมา

บทเรียนให้รัฐบาลเดินหน้าเลือกตั้งให้สำเร็จ คือ การยอมรับทุกฝ่ายและองค์กรอิสระต้องจัดการเลือกตั้งให้ดี ทำให้การสร้างกติกา กลไกในช่วงนี้เดินไปในจุดที่ทุกคนยอมรับได้ แต่ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่ควบคุมไม่ได้

Q : คสช.กำลังจะเข้ามาเป็นกรรมการระหว่างคนที่เอาทหารหรือไม่เอาทหาร

การเมืองไม่ได้มีเพียงแค่สองทางเลือก มีตั้งร้อยกว่าพรรค มีกลุ่มที่ต้องการเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน ไม่ใช่แค่ทหารหรือไม่ทหาร ทำไมไม่ให้พื้นที่เขายืน

Q : รัฐบาล คสช.จะแยกการเมืองออกจากเรื่องความมั่นคง

ท่านนายกฯ ก็ต้องรับโจทย์นี้ไป เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วต้องเป็นที่ยอมรับ การจัดพื้นที่ปลอดภัยเป็นประโยชน์ทุกฝ่ายจริง ๆ และต้องอธิบายว่างานการเมืองของรัฐบาลที่ทำอยู่ทุกวันนี้เพื่อประชาชน

ส่วนในงานเชิงพรรคการเมือง มีส่วนได้เสีย รัฐบาลต้องแยกออกไป วิธีสุดท้ายถ้าพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ มันอาจจะกลับมาที่นายกฯ ก็ได้หรือไม่ แต่ต้องชัดเจนและคนต้องยอมรับว่า 3 ส่วนนี้แยกออกจากกัน

วันนี้งานการเมืองของรัฐบาล ไม่ใช่งานแบบพรรคการเมืองที่ทหารจะลงไปแข่งขัน กติกาชัดเจนตั้งแต่วันแรกว่า การแข่งขันมือหนึ่ง ไม้หนึ่ง กระดานแรกเป็นของพรรคการเมือง เขาจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เดินต่อได้ แต่ถ้าไม่ได้ประชามติชัดเจนว่าให้มีทางเลือกอื่น

Q : กระดานแรกทหารไม่ใช่คู่แข่งขันของนักการเมือง

ใช่ แต่เพราะทหารเข้ามาจัดพื้นที่ปลอดภัยทำให้คนกังวล เอ๊ะ คุณจะเป็นคู่แข่งผมไหม คุณจะได้เปรียบไหม แต่ท่านนายกฯ พูดชัดเจนว่า ไม่เอา ไม่ลง

แต่ก็ไม่พอ คนไม่เชื่อ ไปห้ามไม่ได้ รัฐบาลก็รับฟังและจัดพื้นที่ปลอดภัยให้พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องไปว่ากันทีหลังว่าจะเอากันอย่างไร

Q : แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่กลับมาเป็นนายกฯ อะไร

เป็นหลักประกันว่า กรรมการจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด

หนึ่ง นายกฯไม่ได้ลงไปแข่งขัน

สอง ถ้านายกฯจะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอกเองก็เป็นเรื่องของกระบวนการพิเศษจากสภาที่มีการเลือกตั้งมาแล้ว

Q : โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ถูกมองว่าเป็นการหาเสียงของรัฐบาล

คนการเมืองเขาก็ต้องคิดกันแบบนี้ว่า เอ๊ะ แย่งคะแนนนิยมไหม แล้วคะแนนนิยมจะไปอยู่ตรงไหน แต่ในความเป็นจริง ถ้าไม่ประชานิยมแล้วจะนิยมใคร แล้วก็ทำมาหลายรัฐบาล ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ทำเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบให้ต่างกัน กติกาที่ต่างกัน

แต่ตอนนี้การเมืองก้าวข้ามว่าจะนิยมใครแล้วนะ ต้องนิยมประชาชน แต่นิยมอย่างไรไม่ให้ประชาชนและรัฐบาลเสียหาย แต่ไม่ใช่บอกว่าประชานิยมของผมคุณใช้ไม่ได้ ของคุณต้องไม่นิยมประชาชน อ้าว ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่การเมืองนี่ การเมืองก็ต้องนิยมประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากระบบไหนก็ต้องนิยมประชาชน

Q : ทำให้นักการเมืองไม่ไว้ใจรัฐบาล

ใช่ งานการเมืองก็คล้าย ๆ กับพรรคการเมืองแต่ไม่ได้หาเสียงเพื่อขอคะแนนเสียง เพียงแต่ดูแลประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชนนั่นคืองานการเมือง

Q : ชัดเจนแล้วใช่หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้ง

ใช่ ประชาชนต้องการอย่างนั้น