
คอลัมน์ : Politics policy people forum
เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 1 เดือนเศษ นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 11 กันยายน
ใน 1 เดือนเศษ “เศรษฐา” วางโปรแกรมเยือนต่างประเทศแล้วกว่า 7 ประเทศ 2 ทวีป ทั้งสหรัฐอเมริกา และในเอเชีย เปิดสัมพันธ์ทั้งการเมือง การทูต และการเจรจาธุรกิจ ประกาศว่า “ประเทศไทย” เปิดประตูสำหรับการลงทุนครั้งใหม่ และครั้งใหญ่ที่สุด
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
ในวาระที่โลกกำลังระอุด้วยภาวะการเมืองระหว่างประเทศ ที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้วข้าง เดิมพันด้วยเศรษฐกิจของประเทศ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ “นายกฯน้อย” ฉายจุดยืนไทยบนเวทีโลก และโอกาสที่ไทยต้องคว้ามาให้ได้ โดยมี “เศรษฐา” ทำหน้าที่เป็น “เซลส์แมน”
เป็นมิตรทุกฝ่าย
นพ.พรหมินทร์ฉายภาพว่า เราเดินนโยบายต่างประเทศที่ให้ความสมดุล เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายไหนในโลกเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เราไม่เป็นศัตรูทั้งจีนและสหรัฐ คนที่อยากค้าขายทั้งสองข้าง จึงถือไทยเป็นฐานใหญ่ของการลงทุน และการค้าขาย ใช้จุดเด่นนี้เป็นการเดินนโยบาย
เราได้ให้ความสำคัญของการไม่อยู่ในคู่ความขัดแย้ง และธุรกิจชัดเจนมาก คนที่จะเข้ามาไม่ว่าเป็นฝั่งไหนให้ความสำคัญเรื่องนี้ที่สุด เจ้าใหญ่พูดออกมาเลย สิ่งที่สำคัญที่เราอยากมาที่นี่เพราะเหตุผลเรื่องนี้
และเรามีแผน sustainable development goals (SDGs) ที่ไปโชว์ได้และปฏิบัติได้ เหตุผลที่มาคือความชำนาญและเชี่ยวชาญคือ เราทำให้เศรษฐกิจโต และมองภาพอย่างเป็นยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงทุก ๆ เรื่องเข้าหากัน แล้วดูความต้องการของโลกไปทางไหนและดักทางไว้
green fund อาวุธใหม่ลงทุน
นพ.พรหมินทร์กล่าวอย่างมั่นใจว่า การที่นายกฯมาจากการเลือกตั้ง และเข้าใจภาคธุรกิจอย่างดีจะเป็นโอกาสของประเทศไทย “เราเดินทางไปร่วมประชุม UN พบผู้นำของโลก ทั้งโลกที่มา และเราเลือกพบผู้นำสำคัญ ๆ ทั้งโจ ไบเดน ใครต่อใครที่มีโอกาสพบปะ ขณะเดียวกัน การประชุมข้าง ๆ กัน คือการประชุมของภาคธุรกิจ เปิดตัวให้รู้จักว่าเรามาแล้ว เปิดประตูต้อนรับการลงทุน ทำมาค้าขาย ให้ไปรู้จักโดยเร็ว”
“ถือโอกาสพบปะรายใหญ่ ๆ ของโลก คนที่มีโอกาสจะมาลงทุนประเทศไทย เช่น อีลอน มัสก์ ของเทสลา ก็ไม่ใช่เจอกันง่าย ๆ และเขาเอาเบอร์ถัดจากเขามานั่งสนทนาด้วย และให้ความมั่นใจ มีการนัดต่อไปที่จะเข้ามา รวมถึงเจ้าใหญ่ ๆ Google Microsoft นักลงทุนใหญ่ ๆ ที่จะเข้ามา”
“นอกจากนี้ UN ให้ความสำคัญ sustainable development ของโลก แนวโน้มการพัฒนายั่งยืน เรื่องนี้เปิดโอกาสอีกด้านหนึ่ง คือ เขาให้ความสำคัญถึงการลงทุนในอนาคต เกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด นายกฯสร้างโอกาสการใช้ green fund เป็นการระดมทุนจากต่างประเทศ เพื่อลงทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด เรื่องสิ่งแวดล้อม”
“รัฐบาลล้วนแล้วแต่เข้าใจเทรนด์ของโลก ในเดือนหน้านายกฯจะประชุมเอเปค ที่สหรัฐอเมริกา เขารอนัดมาแล้ว หัวบันไดไม่แห้ง มีการติดต่อมาเพื่อจะปิดดีลเพิ่มขึ้น”
นพ.พรหมินทร์ฉายภาพต่อว่า กลับเข้ามาประเทศไทย คนที่เคยลงทุนมาแล้ว คือ Amazon Web Services (AWS) เขาจะใส่เงินเป็น 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาติดกฎหมายบางเรื่อง
“ดังนั้น สิ่งที่นายกฯสั่งตรงมาจากต่างประเทศคือเรื่อง ease of doing business ทำให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้น โดยตั้ง อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดการ เพื่อปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายต่าง ๆ เราจะเริ่มปลดทีละตัว”
เยือนจีน กระชับเศรษฐกิจ
ถัดจากการเยือน UN “เศรษฐา” และคณะ เดินทางไปแนะนำตัวกับชาติอาเซียน ในฐานะนายกฯคนที่ 30 และกับซาอุดีอาระเบีย และครั้งนี้ก็เป็น “โอกาสทอง” ของรัฐบาล และประเทศ
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า การไปเยือนจีนเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลก จีนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็จะสามารถร่วมกับเราได้สะดวกขึ้น
สำหรับตารางการทูตของ “เศรษฐา” เริ่มจาก 17 ตุลาคม มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบ และเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3
“เส้นทางคมนาคมเราเปิดช่องทางการลำเลียง ขณะนี้ รถไฟความเร็วสูงของลาวมาจ่ออยู่ที่เวียงจันทน์ เราก็จะเชื่อมลงมาให้เร็ว และทำวิธีการทำเจรจาเรื่องศุลกากร ทริปที่เราไปจีนคงเป็นหัวข้อที่เราไปหารือกัน ทำให้การทำมาค้าขายสะดวกขึ้น ลดขั้นตอนพิธีการทำได้อย่างไรบ้าง และเราต้องลงทุนสร้างเพื่อให้เป็นเส้นทางลำเลียงในจุดสำคัญ”
วันที่ 18 ตุลาคม 2566 จะพบเอกชน-นักธุรกิจของจีน กว่า 10 บริษัท อาทิ ผู้บริหารเสี่ยวมี, อาลีบาบา, หัวเว่ย, เทนเซ็นต์ นอกจากนี้ นายเศรษฐามีกำหนดพบ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รวมถึงหารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งหารือทวิภาคีกับ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
ทั้งนี้ เลขาธิการนายกฯย้อนความว่า ก่อนหน้านี้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปที่หัวเว่ย ปรากฏว่าไปปิดดีลเพิ่มการขยายการลงทุนด้าน AI ทั้งหมดรองรับธุรกิจในอนาคต
“เราผูกจนกระทั่งเขามีเงื่อนไข ให้พัฒนาคนของเราให้เป็น expert ด้าน AI ปีละ 1 หมื่นคน ติดต่อกัน 5 ปี ดังนั้น อย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นการสร้างและวางแผนทั้งสั้น และยาว วันนี้โลกทั้งโลกขาดเรื่องดิจิทัลทั้งหมด”
“นอกจากนี้ เราดักทางธุรกิจพื้นฐานอย่างภาคการเกษตรก็สำคัญ คือ อาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิต นายกฯไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการประชุมเรื่องนี้”
“ขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน จาก 7 เจ้าใหญ่มาแล้ว 4 เจ้า และมีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ยอดความต้องการรถอีวีเพิ่มขึ้น การผลิตรถตัวนี้สิ่งที่ตามมาคือต้องผลิต chip ดังนั้น พวกบริษัท semiconductor ติดต่อเข้ามาแล้ว มีหลายเจ้าที่ให้ความสนใจ”
จากนั้น 19 ตุลาคม เดินทางต่อไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-Gulf Cooperation Council Summit)
“การไปเจราจากับกลุ่มประเทศอาหรับ GCC Gulf States ซึ่งเป็น 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ตรงนั้นเป็นการเปิดตลาดมหาศาล เพราะเขาต้องการอาหารจากประเทศไทย” นพ.พรหมินทร์กล่าว