กรณ์ เตือน รัฐบาลคิดให้ดีก่อนกู้เงินต่างประเทศ เสี่ยง แบกดอกเบี้ยเกิน 6%

กรณ์ จาติกวณิช

“กรณ์” เตือน รัฐบาลคิดให้ดี กู้เงินต่างประเทศในรอบ 25 ปี ชี้ อาจต้องแบกดอกเบี้ยเกิน 6% ขึ้นไป ซ้ำเสี่ยง ปมอัตราแลกเปลี่ยน หากเทียบกับกู้เงินบาทแพงกว่า

วันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง ก็จะมีเจ้าหน้าที่การตลาดของวาณิชธนกิจจากต่างประเทศ เช่น JPMorgan Goldman Sachs หรือ UBS ขอคิวเข้าพบ และหนึ่งบริการที่เขาจะพยายามเสนอขายคือ การออกพันธบัตรดอลลาร์ พูดให้คนไทยเข้าใจง่าย ๆ คือ เสนอให้รัฐบาลกู้เงินต่างประเทศนั่นเอง

ซึ่งวันนี้ตนเห็นรัฐบาลออกมาแสดงเจตจำนงจะออกพันธบัตรกู้เงินสกุลดอลลาร์ พร้อมคำอธิบายว่าเพื่อเป็น การเปิดตลาดและเพื่อสร้างราคาอ้างอิง (benchmark) นั่นคือคำอธิบายที่พนักงานมาร์เก็ตติ้งธนาคารมักจะใช้ในการขายบริการนี้ ดังนั้นคาดว่าครั้งนี้ก็ไม่ต่าง

“แต่ก่อนที่รัฐบาลจะคล้อยตาม ผมขอให้ไตร่ตรองให้ดี เพราะจังหวะเวลานี้ ต้องขอบอกว่าไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมเลยที่ไทยเราจะออกไปกู้เงินต่างประเทศในลักษณะแบบนี้ หากเป็นสองปีก่อน หรือแม้แต่ปีที่แล้ว ในช่วงก่อนที่ดอกเบี้ยจะขึ้น และในช่วงที่สภาพคล่องมีล้นเหลือยังพอว่า แต่วันนี้หากรัฐบาลไทยออกพันธบัตรกู้เงินสกุลดอลลาร์ น่าจะต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยรัฐบาลอเมริกาอยู่ประมาณ 1% คือเท่ากับเราต้องจ่ายดอกเบี้ย 6% ขึ้นไป พร้อมกับการรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเทียบกับการกู้เงินบาทโดยรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ย 3.3% แพงกว่ากันประมาณ 2 เท่า” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดพันธบัตรผันผวนสูง และต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยไม่ได้กู้เงินต่างประเทศแบบนี้มาตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ดังนั้นเรื่องนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เราต้องออกไปเปิดตัวในจังหวะที่ดี ทั้งในแง่สภาวะตลาดและในแง่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของเรา ยิ่งถ้ามีการโยงว่า รัฐบาลไทยออกพันธบัตรกู้เงินต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 25 ปี เพื่อนำไปแจกเงินโครงการประชานิยม อันนี้ไม่ดีแน่นอน