ศาลรธน.รับแล้ว 2 คำร้อง ร่างกม.เลือกตั้งส.ส.-คำสั่งคสช.ที่53 ขัดหรือแย้งรธน. นัดชี้แจง 25 เม.ย.นี้

เมื่อเวลา 16.04 น. วันที่ 11 เม.ย.  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยเเพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ผู้ตรวจการเเผ่นดิน เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 231 (1) ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26 ,27 และ 45 หรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย

เนื่องจากเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 50 และหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ รวมทั้งเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หัวหน้าคสช. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 25 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ รับคำร้องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. 27 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ ไว้วินิจฉัยแล้ว

เนื่องจากยื่นตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลฯ มาตรา 50 และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบ รวมทั้งเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้นายปรีชา วัชราภัย สมาชิกสนช. ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายผู้เสนอความเห็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า และประธาน กกต. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 25 เม.ย. 2561

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 2 มาตรา ของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประธานสนช. ขอให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาตรา 35 ระบุว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ (4) การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ระบุว่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้อำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์