“อภิสิทธิ์” ดับฝันพรรคธุรกิจ-ทหาร การเมือง disrupt-ปชป.ใหม่สวัสดิการเข้มแข็ง

ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองเก่า-ใหม่คึกคัก ก่อนชิงดำการเลือกตั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่พรรคขึ้นสู่ปีที่ 72 ขึ้นเค้าโครงนโยบายใหม่ ในวาระเลือกตั้งครั้งหน้า

Q : วิเคราะห์การเมืองถัดจากนี้ คืออะไร

พรรคใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมากและความคึกคักของพรรคเก่า สะท้อนในมุมว่า การเมืองยังมีสุญญากาศ นักการเมืองและพรรคเดิม รวมถึง คสช.ยังไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้คนได้ เป็นแรงผลักให้เกิดความต้องการสิ่งใหม่ โดยรวมสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ตั้งใจเคลื่อนเข้ามาสู่การแข่งขันทางการเมืองมีจำนวนมาก ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ เห็นได้ว่า คสช.ต้องตอบคำถามถึงโรดแมปทุกวัน

จากตรงนี้ต่อไป มีโจทย์แตกต่างกันไปพรรคเก่ากับพรรคใหม่ ซึ่งจะต้องทำตามเงื่อนไขของกฎหมาย ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าระหว่างนี้ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งจะมีพรรคที่ไปถึงตรงนั้นกี่ พรรค

Q : ความร้อนแรงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณทำให้คสช.ไม่สามารถถอยโรดแมปไปได้อีก

(หัวเราะ) เออ…คสช.ก็รู้นะว่ามีแรงกดดันมีอยู่ ตัวสะท้อนที่ดีที่สุด คือ การลังเลที่จะรับผิดชอบว่าใครเป็นคนส่งร่างพ.ร.ป.ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปอีก

Q : การขยับโรดแมปแต่ละครั้ง คสช.ต้องจ่ายต้นทุนทางสังคมสูงขึ้น

ถูก คสช.ก็คงต้องแลกกับความพร้อมของพรรคการเมืองที่คสช.ต้องการสนับสนุน ชิงความได้เปรียบจากการมีอำนาจรัฐ ซึ่งถึงตอนนี้ คสช.ก็ไม่ปฏิเสธแล้ว แต่ทุกครั้งที่ขยับมีผลต่อความเชื่อมั่น เชื่อถือ และไปเติมความหงุดหงิดของคนที่เรียกร้องอยากเลือกตั้ง

Q : ทำให้พรรคประชารัฐซึ่งเป็นภาพของธุรกิจบวกกับทหารเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

คนไม่ได้มองว่าเป็นพรรคการเมืองของภาคธุรกิจ แต่ภาพต่อไปที่อาจจะเห็น คือ ภาพธุรกิจที่จำยอมเพราะกำลังคุยกับผู้มีอำนาจรัฐ จะเห็นภาพธุรกิจเป็นสปอนเซอร์ของพรรคประชารัฐ แต่ไม่มั่นใจว่าจะเป็นทางการไหม

Q : ภาพชัดขึ้นเมื่อคนที่ในรัฐบาลจะมามีตำแหน่งสำคัญในพรรคประชารัฐ

คงเกิดคำถาม หนึ่ง คนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีจะมาดำรงตำแหน่งในพรรคแต่ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใน บทเฉพาะกาล มาตรา 263 วรรคเจ็ด ประกอบมาตรา 264 ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ เพราะไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้

สอง เจตนารมณ์ คือ ไม่ประสงค์ให้ใครที่มีอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้มาเป็นผู้แข่งขัน และสาม ตั้งใจตั้งพรรคและเอาคนที่มีอำนาจรัฐมาอยู่ในพรรคสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญแค่ไหน เป็นการตอกย้ำว่า จงใจเอาสถานะของการมีอำนาจรัฐของคุณไปใช้อย่างอื่น

Q : ใครจะเป็น 1 ใน 3 ของบัญชีนายกฯ ในพรรคประชารัฐ

ถ้าจะทำก็คงเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า เขาคงต้องเปิดไว้ทุกทางเลือกเพราะเขามาได้หลายทาง แต่ชัดขึ้นว่า ทางนี้เขาไม่ได้ทิ้งแน่นอน

Q : ชัดเจนมากขึ้น ว่าการลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์คือจะลงมาเล่นการเมือง

คนเป็นรัฐบาลมีสิทธิ์ทำแต่เป็นเรื่องของเส้นแบ่งบาง ๆ ศิลปะ การวางท่าทีที่เหมาะสม ว่า เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ การใช้สถานะความเป็นรัฐไปทำหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็จะเกิดคำถามว่าแล้วเราจะปฏิรูปการเมืองได้ไหมเพราะเรื่องที่เรียกร้องให้ แก้ไขมาโดยตลอด คือ การเอาอำนาจรัฐไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง

Q : รัฐบาล คสช.ไม่ได้เป็นกรรมการแต่กลายเป็นผู้เล่น จะเกิดอะไรขึ้น

การจะมาเป็นผู้เล่นก็เป็นได้แต่ถ้าคงอำนาจหรือถือสถานะเหนือกรรมการก็คงไม่เหมาะ เช่น การใช้มาตรา 44 ปลด กกต.

ถ้า คสช. ตัดสินใจแล้วว่าจะมาเป็นผู้เล่น แต่ยังถืออำนาจ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้นหลังการเลือกตั้งเพราะยังมีความคิดที่สวน ทางกับความต้องการของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ถ้ามีการใช้อำนาจบางอย่างระหว่างเลือกตั้ง ที่ทำให้เกิดการไม่ยอมรับสูง

Q : พรรคการเมืองเรียงหน้ากระดานเผชิญหน้ากับ คสช.

คงไม่ไปถึงจุดนั้น อาจจะมีบางพรรคที่ต้องการเผชิญหน้า ต่อกรอยู่ตลอดเวลา

Q : เตรียมคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่จะเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทิศทางอนาคตของพรรคเหมือน คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) เป็นคนที่ต้องการจะผลักดันความคิด นโยบายที่เขาเชื่อว่าเหมาะสมกับโลกในอนาคต และอยากเข้ามามีบทบาท มีอิทธิพลต่อการทำงานของพรรคด้วย

Q : คนรุ่นใหม่จะดึงประชาธิปัตย์ออกมาจากจุดยืนสายอนุรักษนิยมสูง

ไม่ได้ดึงไปไหนแต่มันกลับไปยังรากฐานตามแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย เราต้องยืนอยู่ในจุดที่ตั้งใจจะเป็นตั้งแต่ต้น

Q : การสร้างแบรนด์พรรคของคนรุ่นใหม่

มีพลังมากกว่าคนรุ่นเก่าแน่นอนเขาไม่มีภาระทางประวัติศาสตร์ เขาพูดได้เต็มที่และเป็นแรงผลักให้องค์กรขยับได้ เพราะคนเก่า ๆ พูดอาจจะนำไปสู่คำถามเก่า ๆ ในอดีต

Q : ความเป็นพรรคการเมืองในโลกปัจจุบันถูก disrupt อะไรบ้าง

พรรคการเมือง มีแนวโน้มจะถูก disrupt มานานแล้ว ตั้งแต่ระบบการตลาด ธรรมชาติของสื่อสารมวลชนเปลี่ยนแปลงไป ทุกประเทศในรอบ 50 ปี 60 ปีที่ผ่านมา สถาบันพรรคการเมืองถูก disrupt มาตลอด แม้กระทั่งโลกตะวันตก

Q : สุดทางหรือยังหรือมากกว่านี้

อีกส่วนหนึ่งถูกกำกับโดยกติกา กฎหมายบางระบบง่ายต่อการถูก disrupt มากกว่า เช่น สหรัฐ แต่ระบบรัฐสภาของไทยยากกว่าเพราะเลือกผู้นำโดยผู้แทนไม่ได้เลือกโดยตรง

Q : รัฐบาลมีแผน-บัญชีโครงการลงทุนมากขึ้นส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร

ในมุมโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลคงอยากให้เกิดความชัดเจนภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปอาจมองว่าเป็น เรื่องที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ผลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจจะเปลี่ยนแปลงได้

Q : จะพลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ และเป็นผลงานและคะแนนของรัฐบาลนี้

คงไม่ได้พลิกโฉมในปีนี้หรือปีหน้าและคงไม่เดาใจผู้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบสำเร็จรูปของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไปมากนัก

Q : รัฐบาลจึงมีโปรเจ็กต์คู่ขนานที่เรียกว่าไทยนิยมและงบฯกลางปี

ถูกต้อง แต่ผลที่จะได้แค่ไหนอยู่ที่การออกแบบโครงการ ตั้งแต่ปี 57 ถึงวันนี้งบประมาณที่ลงไปประมาณล้านล้านบาท แต่ผลที่ลงไปจริงน้อยมาก ประชาชนไม่รู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะทำ หนึ่ง ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีกำหนดเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจ วาระหลัก คือ หนึ่ง ต้องเลิกคิดว่าตัวเลข GDP เป็นเป้าหมายการบริหารเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว แต่รวมถึงหนี้ครัวเรือน การกระจายรายได้โครงการ EEC ในส่วนที่ขาดไปและอยากที่จะไปแก้ คือ การเชื่อมโยงกับต่างชาติ เช่น เส้นทางสายไหม (OBOR) ของจีน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ปักหมุดผิดที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย บางอุตสาหกรรมมาตรการยังไม่ชัด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

Q : การทำเป็นระบบต้องใช้เวลา แต่หากต้องการคะแนนนิยมทำเป็นส่วน ๆ

รัฐบาลพูดตลอดว่าอย่าทำอะไรเพื่อหวังผลเฉพาะหน้าแต่เห็นนโยบายในเชิงระบบค่อนข้างน้อย สอง เศรษฐกิจยุคใหม่ ระบบสวัสดิการต้องพัฒนาเต็มที่ เช่น การออม แต่รัฐบาลไปตั้งธนาคารที่ดินให้คนกู้ ยังคิดในกรอบเดิมว่าจะมีที่ดินให้คนกู้ได้ไหม ตำบลละกี่ล้าน หมู่บ้านละกี่แสน สุดท้ายปลายทางคืออะไร

Q : ตอนนี้เงินท่วมหมู่บ้านแต่ชาวบ้านไม่ได้เงิน

เงินไม่หมุน บัตรคนจนไปล็อกอยู่ในร้านค้าเพียงไม่กี่ร้าน ดังนั้นต่อไปนี้นโยบายพูดเพียงตัวเลขไม่ได้ เพราะวิถีชีวิตของคนไทยอยู่ในภาคเกษตร ถ้าข้าว ยางพารา ปาล์ม ราคาดี ประมงทำได้ ก็ไม่ต้องเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าให้แล้วมันเลิกยาก

Q : นโยบายของประเทศไทยในระยะต่อไปควรเป็นอย่างไร

ต้องมีหลักประกันรายได้พื้นฐาน โดยรัฐหารายได้มากขึ้นและการเพิ่มศักยภาพสวัสดิการ

Q : เงื่อนไขการหารายได้ของรัฐยังยากอยู่ แต่ระบบสวัสดิการวิ่งมาชนหลัง

ใช่ ควรทำโครงการที่จะกระตุ้นการออมเงินเพื่อผูกกับสวัสดิการ เพราะลำพังรายได้ของรัฐไม่เพียงพอ หลายคนกำลังหลงทางเพราะมองปัญหาการศึกษา สาธารณสุขเป็นภาระ ต้นทุน ไปคิดว่าเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องทำเงินลืมไปว่าต้องแยกบทบาท คนทำเงินคือภาคเอกชน ภาครัฐต้องมาช่วยเรื่องบริการสังคมให้เกิดขึ้น

Q : ความพยายามนำเอาธุรกิจเอกชนไปช่วยชาวบ้านไม่ได้สัมฤทธิผล

ยาก ควรให้ธุรกิจของชุมชนเติบโต แต่โครงการแบบประชารัฐเกิดขึ้น รัฐต้องพึ่งทุนใหญ่ เป้าหมายไปไม่ถึงชุมชน เมื่อเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นอย่างนี้ ราชการยุคใหม่ต้องกระจายอำนาจเต็มที่ เมืองเป็นระบบมหานคร ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง จังหวัดจัดการตนเอง ถึงเวลาแล้ว