‘ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์’ : ชีวิตหน้าม่านการเมือง พลิกทฤษฎี-ปลุก Passion รัฐราชการ

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประวัติ สัมภาษณ์

ครอบครัว “จาตุศรีพิทักษ์” บ้านหลังใหญ่ มี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. และ “ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม่น้ำ 5 สาย เป็น “เสาหลัก” ของบ้าน บ้านที่มีทฤษฎีทางความคิด-เศรษฐศาสตร์ทางเศรษฐกิจในแบบฉบับ “จาตุศรีพิทักษ์” ที่หมุนรอบวงโคจรอำนาจทางการเมือง-เศรษฐกิจจากรุ่นสู่รุ่น?

“ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์” โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาล-คสช. ลูกในสายเลือด “ดร.สม” และหลานชายแท้ ๆ ของ “ดร.สมคิด” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจเมกะโปรเจ็กต์-เศรษฐกิจหมู่บ้าน

สายเลือด “จาตุศรีพิทักษ์”

“ณัฐพร” ก้าวเข้าใกล้พื้นที่ศูนย์กลางอำนาจแห่งทำเนียบรัฐบาลในตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ด้วยการชักชวนของ “ดร.อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้น “ดร.อุตตม” เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (อภิรดี ตันตราภรณ์)

“ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่เรามีอยู่ มาใช้ในประสบการณ์จริง”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ “ณัฐพร” ทำงานเป็น consulting unit อยู่ที่ “สถาบันศศิน” คอยให้คำปรึกษาด้านนโยบายภาครัฐและแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานรัฐ

“การได้มีโอกาสเข้ามาอยู่และได้มองเห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะปกติเมื่อมองจากฝั่งวิชาการต้องยึดหลักทฤษฎี ตามสิ่งที่ควรจะเป็นในตำรา”

“บางครั้งไม่ได้มองถึงข้อจำกัด เมื่อต้องมาอยู่ฝั่งปฏิบัติทำให้การคิดนโยบายสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้มากขึ้น”

สัจธรรมดังกล่าวตกตะกอนเป็นผลึกความคิดได้ว่า “การวิจารณ์คนอื่นไม่ยากแต่การจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงยากยิ่งกว่า”

เดินตาม (รอย) “ดร.สมคิด”

การก้าวเข้าสู่จุดศูนย์รวมอำนาจ-เดินตามรอย “ดร.สมคิด” เข้า-ออกวงในคณะรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจชาวบ้าน งานหลักของเขา คือ การประสานงานระหว่างข้าราชการ-นักธุรกิจ-นักวิชาการ ลงไปคลุกกับประชาชนในพื้นที่จริง

“การแก้ปัญหาของประชาชนต้องลงพื้นที่จริง แต่ถ้าลงไปอยู่ตรงนั้น ไปสัมผัสกับประชาชนจริง ๆ ก็จะสามารถรู้สาเหตุหรือข้อจำกัดของปัญหาได้”

การได้ทำงานใกล้ชิดกับ “ดร.สมคิด” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทำให้ “ณัฐพร” ได้ซึมซับความเป็น “นักยุทธศาสตร์” และ “นักวางแผน”

“จุดเด่นของท่านคือเป็นนักยุทธศาสตร์ มองเห็นภาพรวม รู้ว่าอะไรต้องมาก่อน-หลัง”

“ท่านจะ hand on จะเข้าไป get in work แต่ละกระทรวง เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน เชื่อมโยงกัน”

นามสกุลกับ “ความสามารถ-ความไว้ใจ”

ความที่นามสกุล “จาตุศรีพิทักษ์” ทำให้เกิดคำถามถึง “ความสามารถ” ที่อาจจะไม่ได้มาพร้อมกับ “นามสกุล”

“แน่นอนอาจมีคนมองอย่างนั้น แต่พอเห็นว่าเราทำอะไรและเข้ามาตรงนี้ได้อย่างไร ซึ่งทำงานตรงนี้ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่ได้ประโยชน์อะไรที่เป็นตัวเงิน มาอยู่ตรงนี้เพราะมีความสามารถพอ มาเพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ”

“การมาทำงานใกล้ชิดกับท่านสมคิดนั้น… และถ้าเกิดเขามีความสามารถ ไว้ใจได้ จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้งานคนนั้น”

ชีวิตหลังไมค์ “โฆษกเศรษฐกิจ”

ขณะที่งาน “หลังไมค์” ในตำแหน่ง “โฆษกเศรษฐกิจ” เขาต้องรับบทหนักเมื่อ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีใน “ครม.บิ๊กตู่ 5”

“ข้อที่ยาก คือ เราไม่ใช่คนเขียนมาตรการ ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจนโยบายภาพใหญ่แต่เมื่อเราไม่ได้ทำกับมือจึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ”

“ขณะเดียวกันหลาย ๆ เรื่องไม่ได้มาล่วงหน้า เห็นเรื่องก่อนที่จะแถลงข่าว 1 ชั่วโมง หรืออาจจะน้อยกว่านั้น บางทีเห็นเรื่องปุ๊บอีก 10 นาทีประชุมเสร็จแล้ว ก็ต้องลงมาแถลงแล้ว”

“สำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรจะสื่อสารให้คนเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีมาตรการเหล่านี้ออกมา เชื่อมโยงให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ และไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะไป”

ชีวิต CSR-ไม่เล่นการเมือง

ทั้ง “คุณพ่อสม” และ “คุณอาสมคิด” ล้วนแต่คลุกฝุ่นงานการเมือง-งานเศรษฐกิจระดับประเทศมาอย่างโชกโชน หลายรัฐบาล-หลายนายกฯ คำถามที่ “ลูกไม้” ต้องตอบ เพื่อให้ได้

คำตอบ “ใกล้ต้น-จาตุศรีพิทักษ์” ที่สุดคือเรื่องการเมือง

เขาเลี่ยงที่จะตอบเรื่องอนาคต แต่ ณ เวลานี้เขาตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “ไม่ได้สนใจการเมือง”

“ไม่อยากทำอะไรที่ตัวเองไม่สบายใจ และที่เข้ามาตรงนี้เพราะคิดว่าเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ได้”

“เคยพูดเล่น ๆ ว่า ช่วงนี้คือ ช่วง CSR ของชีวิต แต่ถ้าเราคิดว่า มาทำการเมืองโดยไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศ เอาเวลาไปเล่นการเมืองมากกว่า เรารู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนของเรา”

วิถีไทย…ทางออกประเทศ

เขายังได้รับประสบการณ์ใหม่ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ-ขึ้นโครงเศรษฐกิจยุคใหม่ในอนาคต

“เมืองไทยมีของดีอยู่มาก เช่น วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ การลงพื้นที่ไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านทำให้เห็นแนวคิดที่ดีของชาวบ้านเขาทำกันอย่างไร?เป็นทางออกของประเทศไทย”

เขาเชื่อว่าประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีสมัยใหม่-นวัตกรรมล้ำสมัย เพราะรากฐานของประเทศไทยว่า มี “จุดขาย-จุดแข็ง”

“จุดที่เราสามารถขายได้ คือ การเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด…ในโลก นักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ใครก็อยากจะมา post ที่เมืองไทย เช่น การท่องเที่ยว”

“แม้กระทั่งนิสัยใจคอของคนไทยเอง ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดเพื่อดึงดูดนักธุรกิจและคนเก่ง ๆ ให้เข้ามาอยู่ เพราะคนไทยยิ้มแย้ม ยืดหยุ่น ให้เมืองไทยเป็น services center”

ต่อยอดวิถีชีวิตสร้างมูลค่าเพิ่ม

ท่ามกลางโลกแห่งธุรกิจสมัยใหม่ อาจทำให้วิถีชีวิตชนบทถูก disrupt เขาจึงคิดเร็ว-ตอบเร็วถึงทางรอด

“ต้องต่อยอดจากของดีที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างการเกษตรดั้งเดิมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นำสิ่งที่มีอยู่แต่ที่อื่นไม่มีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิม”

“เชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวเที่ยวได้หลากหลายพื้นที่ตามอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนเป็นการต่อยอดโดยที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เป็นอยู่”

“นักท่องเที่ยวยุคใหม่ สิ่งที่เขาตั้งใจแสวงหา คือ experience เขามาเมืองไทยเพราะไม่อยากเห็นเหมือนที่อื่นมี”

สร้าง passion ระบบราชการ

การเข้ามาทำงานในเชิงนโยบายในการประสานงานกับกระทรวง ทบวง กรม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เขาจึงไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า เรื่องที่ควรปฏิรูปอันดับต้น ๆ คือ “ระบบราชการ” และ “การบูรณาการ”

“ระบบราชการไทยมีคนอยู่ประมาณ 2 ล้านคน ถือว่าใหญ่มาก เราขับเคลื่อนทุกอย่างผ่านระบบราชการ ต่อให้มีนโยบายที่ดีอย่างไร ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ และกฎระเบียบจำนวนมาก”

“ในทางกลับกัน ระบบราชการใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ คือ การปรับแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบราชการจาก regulator เปลี่ยนมาเป็น ผู้อำนวยความสะดวก”

“ระบบราชการ ถ้าไม่แก้ คนเก่ง ๆ ดี ๆ บางครั้งก็จะไม่อยากอยู่ ยิ่งถ้าไม่ได้โกง ไม่ได้กิน มันก็ยิ่งเป็นวงจรอุบาทว์ไปเรื่อย ๆ”

“ระบบราชการเป็นหน่วยงานที่ทรงพลังมาก จะมองเป็นอุปสรรค หรือจะมองเป็นโอกาสและแรงส่งมหาศาล ถ้าไปทิศทางเดียวกัน”

“ต้องสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้มองเห็นความสำคัญของสิ่งที่ทำอยู่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน”

เขาเปรียบเทียบการบริหารประเทศภายใต้ระบบราชการปัจจุบันกับการบริหารบริษัทธุรกิจ-องค์กรใหญ่ ว่า “การบริหารประเทศชาติกับการบริหารบริษัทเอกชนไม่เหมือนกัน”

“การบริหารประเทศใช่เรื่องง่าย บังคับให้ซ้ายหันขวาหันเหมือนเอกชนไม่ได้”

การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจเดินหน้า

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่-หน้าใหม่ทางการเมือง เขามีทัศนคติต่อการเมืองว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การขาดยุทธศาสตร์ระยะยาว และการไม่เข้าใจ ความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เคารพกติกา

“สิ่งที่นักธุรกิจต้องการเป็นอันดับ 1 คือ ความชัวร์ มีนโยบายที่แน่นอน”

“ถ้าการเมืองไม่นิ่งเศรษฐกิจภาพใหญ่เดินยาก ขณะเดียวกันหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไปไม่ได้เหมือนกัน”

ต่อยอดประสบการณ์

เขายอมรับว่าสิ่งที่เขาเสียประโยชน์มากที่สุด คือ เรื่องสุขภาพ เพราะเริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่สนิท เพราะไม่มีเวลาออกกำลังกาย

“ตอนนี้นอนน้อย ความเครียดมากขึ้น เครียดจากปัญหาคนอื่น น้ำหนักมากขึ้น หลังจากนี้คงต้องหาเวลาออกกำลังกายมากขึ้น”

ชีวิตหลังการเมือง-ยุครัฐบาล คสช. เขาบอกว่าคงไม่กลับไปทำงานที่สถาบันศศินเหมือนเดิม แต่จะนำประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำงานให้รัฐบาล ซึ่งน้อยคนนักที่จะเห็นกลไกการพัฒนาประเทศจากหลายมุมมองเพื่อไปใช้ประโยชน์-ต่อยอดความสำเร็จของสาธารณะ

ก่อนจะลุกออกจากห้องสนทนาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มเพื่อลงพื้นที่ ออกแดด พบประชาชนในสลัมคลองเตย รับฟังปัญหายาเสพติดในพื้นที่ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน