โรดแมปเลือกตั้งเสี่ยง พรรคทหารเปิดหน้า-ล็อกการเมืองระอุ

สถานการณ์การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ ยาวไปจนถึงครึ่งปีหลัง 2561 มีแนวโน้มปั่นป่วน ด้วยดัชนีทางการเมืองทุกตัว ยากแก่การควบคุม-คาดการณ์

และทำนายผลโรดแมปการเลือกตั้ง แม้ยังอยู่ในครรลองของกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….

แต่ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ก็มีปมเงื่อนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูก “คว่ำ” เพราะเนื้อหากฎหมายอาจ “ขัดรัฐธรรมนูญ”

หาก พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับถูกนับหนึ่งใหม่ ทั้งโรดแมปการเมือง และเส้นทางไปสู่การเลือกตั้ง ก็ต้องย้อนเวลากลับไปตั้งต้นใหม่

ที่ การ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลั่นวาจาไว้จะบอก “วันเลือกตั้ง” ในเดือนมิถุนายน ก็อาจถูกขยับอีกครั้ง

แม่น้ำทั้ง 5 สายของ คสช. และทุกปัจจัยทางการเมือง พุ่งไปรอคำตอบจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาประเทศไทย

ทั้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ที่เรียกว่า พ.ร.ป.ส.ว. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. หรือ พ.ร.ป.ส.ส. ถูกชงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้ขาด โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ในส่วนร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ถูก สนช.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในท่อน “บทเฉพาะกาล” ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของ ส.ว. ให้มีการสรรหา ส.ว.จาก 10 กลุ่ม และประเภท ส.ว.ที่มาจากสมัครโดยตรง และเสนอโดยนิติบุคคล ซึ่งขัดแย้งกับ “บททั่วไป” ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติ “รับ” ไว้พิจารณา เมื่อ 28 มี.ค. 2561 ยังไม่รู้จะใช้เวลาวินิจฉัยนานเท่าใด

เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมที่แน่นอน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สนช.ไฟเขียวให้บังคับใช้เป็นกฎหมาย-ไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในเวลาเดียวกัน มือกฎหมายระดับพญาครุฑ-มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งหมวกอีกใบเป็น 1 ในสมาชิก คสช.ได้ทำ “จดหมายน้อย” ส่งถึง “พรเพชร วิขิตชลชัย” ประธาน สนช.ว่า

ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.มีปัญหา 2 ข้อ 1.ตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ 2.ให้มีผู้ช่วยกาบัตรสำหรับผู้พิการ ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

เมื่อถึงจุดที่เป็นเงื่อนไขให้โรดแมปขยับ “พล.อ.ประยุทธ์” ก้าวพ้นจากการตกเป็น “จำเลย” ด้วยการส่งร่างกฎหมายกลับคืนไปที่ สนช. และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย

ทิศทางคำวินิจฉัยมีแนวโน้มจะออกได้ 3 หน้า ได้แก่ 1.รับคำร้องแต่วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที

2.วินิจฉัยให้บาง “ข้อความ” ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยข้อความดังกล่าวจะตกไป แล้วนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ

และ 3.ขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทั้งฉบับตกไป และต้องร่างใหม่ 6 เดือน ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องทอดเวลาออกไปอีก

“เผือกร้อน” ในมือของศาลรัฐธรรมนูญยังมีมากกว่ากฎหมายลูก เพราะยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่พรรคการเมือง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าคำสั่งดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

เบื้องต้นผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า คำสั่ง คสช.เข้าข่ายลิดรอนสิทธิ สร้างภาระเกินสมควรให้แก่พรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองที่กำหนดให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน

ยังต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยไปในทาง “เป็นคุณ” กับฝ่าย คสช. หรือฝ่ายพรรคการเมืองที่เป็นสารตั้งต้น

พรรคใหญ่จัดแถวรุก คสช.

หลังก้าวพ้นเดือนมีนาคม คสช.เปิดโอกาสให้มีการ “ยืนยันสมาชิกพรรคเก่า” กระตุ้นให้เกิดความ “อยากเลือกตั้ง” ทุกระดับ ทั้งพรรคเล็ก-พรรคใหญ่-พรรคใหม่ เกิดการรวมหัวกันอย่างคึกคัก

คนการเมืองทุกระดับรุกแสดงความจำนงให้ คสช.ปลดล็อกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ จัดประชุมพรรค และการจัดทำนโยบาย เพื่อแคมเปญรณรงค์หาเสียง

ทุกพรรคจึงเข้าแถวหน้ากระดานเผชิญหน้ากับ คสช.

ขณะเดียวกัน นักการเมืองก๊ก-ก๊วนเก่า ในแต่ละพรรคก็มีการจัดแถว-ย้ายพรรคใหม่ เตรียมลงสนามในกติกาใหม่

ในพรรคเพื่อไทย-ฐานที่มั่นใหญ่ยังอยู่ในกลุ่ม ส.ส.อีสาน-เหนือ ส่วนภาคกลางมีแนวโน้มการย้ายพรรค ด้วยการไม่ยืนยันสมาชิกพรรค อาทิ กลุ่มสะสมทรัพย์-วาดะห์ และพวก

“บ้านใหญ่” หลายจังหวัด ทุกก๊กอาศัยจังหวะนี้ “ดีดราคาใหม่”

บุคคลระดับ “บิ๊กเนม” บางรายอาศัยจังหวะนี้หวนคืนกลับเข้าสู่ระบบสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นตั๋วในการลงรับสมัครเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ชื่อของพรรค-นามของ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ” จึงเป็นอีก 1 รายที่รอ คสช.ปลดล็อก

พรรคประชาธิปัตย์-เกิดปรากฏการณ์ “ผลัดใบ” ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทนำอีกครั้ง พร้อม ๆ กับแคมเปญพรรค “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ขับเคลื่อนแข่งขันกับ “คนใน” ที่แยกวงไปตั้งพรรค “กปปส.” มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นฐานที่มั่น

พรรคภูมิใจไทย-ได้สมาชิกเก่าจากพรรคใหญ่เข้ามาในสังกัดเพิ่ม อาทิ กลุ่มศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ จากค่ายชาติไทยพัฒนา

พรรคทหารประชารัฐเปิดหน้า

1 ใน 97 กลุ่มการเมืองที่โดดเด่น และถูกจับตาว่าเป็นพรรคเครือข่ายทหาร คือ “พรรคพลังประชารัฐ” ภายใต้ความเคลื่อนไหว-ที่ไม่เคลื่อนไหวของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ถูกกล่าวหาว่า “ตั้งพรรคในทำเนียบ” จากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์

ชื่อของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูก “สมคิด” พาดพิงให้สืบทอดการตั้งพรรค และหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ในรุกมีถอย-ในถอยมีรุก เมื่อสมคิดไม่ปฏิเสธ และไม่ยืนยัน เรื่องตั้งพรรคเป็นฐานให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เขาบอกว่า “เรื่องตั้งพรรค หากตั้งพรรค ลูกน้องผมตั้ง ผมแก่แล้วอย่ากังวล ผมปรารถนาดีต่อประเทศชาติ การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ”

แต่ลูกน้อง “สมคิด” อย่าง “สนธิรัตน์” ซึ่งมีข่าวว่าจะเป็น “เลขาธิการพรรค” บอกสถานการณ์เฉพาะหน้าว่า “ยังไม่มีการตั้งพรรค แต่ก็มีชื่อของผมเข้าไปเกี่ยวพัน ขณะนี้ก็มีการตั้งพรรคใหม่ถึง 90 พรรค และอยู่ในระหว่างการพูดคุยว่าประเทศจะต้องไปทางไหน และมองว่าใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ”

“ท่านสมคิดและผมก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ เพราะเป็นคนที่เหมาะสม” นายสนธิรัตน์กล่าว

“บิ๊กตู่” เทเงิน-ทำคะแนน

ห้วงที่ คสช.ห้ามทุกพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำรัฐบาล ผันตัวลงสู่สนามอย่างเต็มที่ด้วยการลงไปพบปะ-ปราศรัยกับประชาชนโดยตรง เดือนละ 2 ครั้ง

แบ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามผลงาน และการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และบริการเสริมเปิดงาน-เปิดตัวโครงการประชารัฐ ควบคู่การรุกหว่านเม็ดเงินงบประมาณลงพื้นที่ระดับรากหญ้าอย่างต่อเนื่อง

ทุกพื้นที่ล้วนมีความหมายทางการเมือง ทั้งเจาะฐานเสียง-พบปะหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ครบเครื่อง ดักทุกทาง ดัน พล.อ.ประยุทธ์ รับกระแสความนิยม สะสมเป็นแต้มการเลือกตั้ง


แม้โรดแมปการเมืองประเทศไทยจะยังไม่มีความชัดเจน และเสี่ยงที่จะไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 แต่ทุกองคาพยพต่างรุกเตรียมพร้อม ลงสนามเผชิญหน้ากับ คสช.ในลู่เลือกตั้ง