
เกมเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้น “ศึกษา” โดยคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีหลายล็อก หลายชั้นให้ขบคิด
โดยเฉพาะล็อกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน
“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
นำมาสู่ปัญหาที่ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง โดยวางกรอบเวลาไว้ภายในธันวาคม 2566 หรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จะต้องนำเสนอ ครม.เพื่อให้อนุมัติออกมา ก่อนส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการทำประชามติ
แหล่งข่าวจากทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ มองว่า ถ้าตีความคำวินิจฉัยของศาลในขณะนี้ มองได้ว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง
ครั้งแรก ถามประชาชนว่าเห็นชอบกับการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ครั้งที่สอง ทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติ
ครั้งที่สาม ทำภายหลังที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วเพื่อไปขอความเห็นจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจาก 3 ครั้ง อาจลดลงเหลือ 2 ครั้งได้ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การถามประชาชนว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะทำพร้อมกับการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 เพื่อลดการทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง
หรือกรณีที่ สส.ไม่ยื่นผ่านประธานสภา เมื่อเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 (8) ก็จะมีผู้ไปยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
ล็อกให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดประชามติอีกครั้ง ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการคิกออฟรัฐธรรมนูญโดยแท้