ป.ป.ท.แจง “มานะ” ถึงจะไม่มีประชุม แต่ประธาน คตช.ก็สั่งการปรามทุจริตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีการแชร์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 โดยเปิดเผยว่า “นานกว่า 8 เดือนแล้วที่ไม่มีการประชุม “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” (คตช.) นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลยังเอาจริงเรื่องปราบคอร์รัปชั่นอยู่หรือเปล่า”

เอกสารระบุว่า ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คตช. ขอเรียนชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ดังนี้ 1.โดยที่กรรมการ คตช.บางราย พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุราชการ จึงทำให้มีการเสนอว่า จะต้องปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และนำรายชื่อเสนอ คสช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.ในการดำเนินการที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่มีการประชุม คตช. แต่หัวหน้า คสช.ในฐานะประธาน คตช. ก็ได้มีการสั่งการให้กลไกการขับเคลื่อนการทำงานในระดับปฏิบัติ คือ คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพบก กอ.รมน.

เอกสารยังระบุด้วยว่า สำนักงาน ป.ป.ท.ดำเนินการทั้งในส่วนของการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนของ ศอตช. นั้นได้มีการประชุมและดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง และได้มีการรายงานทั้งลายลักษณ์อักษรและรายงานด้วยวาจาให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน คตช.รับทราบมาโดยตลอด อนึ่ง หากมีการปรับปรุงองค์ประกอบของ คตช.เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน ป.ป.ท.ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำเรียนประธาน คตช. เพื่อกำหนดนัดประชุม คตช.โดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะเสนอแนวทางเพื่อยกระดับการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการขับเคลื่อนทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์