ตามฝัน “บิ๊กป้อม” สร้าง Lab อาวุธ ตั้งบอร์ดนายพลคุมวิจัย-ส่งออก

เข้าใกล้ความจริงเข้ามาอีก 1 ขั้น ที่จะได้เห็นประเทศไทยแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร ด้านการผลิต-จำหน่ายเชิงพาณิชย์ยุทโธปกรณ์ ภายใต้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ-อุตสาหกรรมเป้าหมายตัวที่ 11 (S-curve 11)

เป็นความพยายามของกระทรวงกลาโหมที่มี “บิ๊กป้อม” “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม ผู้กุมหัวใจความมั่นคงของประเทศ

เพื่อให้ประเทศไทยเป็น hub อุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์และศูนย์ซ่อม-สร้าง รองรับพ่อค้า-นายหน้าอาวุธจากประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐ จีน และญี่ปุ่น

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. …เพื่อแปลงร่าง “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” จากองค์การมหาชน-ไม่แสวงหาผลกำไร

ยกระดับเป็น “นิติบุคคล” ภายใต้องค์กรใหม่ ชื่อ “สำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” หรือ สทป. มี “คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ประกอบด้วย รมว.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม เป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 6 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้

ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านการทหาร ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้านการค้าและพาณิชย์ หรือด้านการวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรม

การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือ “เสียงข้างมาก” กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่ง ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ “ประธาน” ในที่ประชุม (รมว.กลาโหม) “ออกเสียงเพิ่ม” ขึ้น อีกเสียงหนึ่งเป็น “เสียงชี้ขาด”

โดย “สทป.” จะดำเนินกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยเพิ่มเติมในวัตถุประสงค์ด้านสำคัญ เช่น การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

การผลิต ประกอบรวม ปรับปรุง ซ่อมสร้าง เปลี่ยนสถานะ แปรสภาพ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ ให้ยืม ให้เช่า และให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม หน่วยงานอื่นของรัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านป้องกันประเทศ และการทดสอบและรับรองผลการทดสอบตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์

โดยเฉพาะการกำหนดให้ สทป.ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ กฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรมและกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน

นอกจากนี้กำหนดให้มี “คณะกรรมการสำนักงานเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” ประกอบด้วย รมว.กลาโหม แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ เสนาธิการ (เสธ.) ทหาร เสธ.ทหารบก เสธ.ทหารเรือ เสธ.ทหารอากาศ และผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน

อำนาจและหน้าที่ กำหนดนโยบายการบริหารงาน การจัดหาทุนและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน อนุมัติแผนการลงทุน การส่งผู้ปฏิบัติงานไปปฏิบัติงานในกิจการที่สำนักงานเข้าร่วมทุน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลอื่น หรือในกิจการของภาคเอกชน กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้ทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดเก็บและอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าแห่งสิทธิ ค่าบริการและค่าอื่น ๆ ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบภายใต้การตั้ง “ข้อสังเกต” อาทิ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รมว.ต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากประเทศไทยลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (ATT) ดังนั้นกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาศึกษารายละเอียดของสนธิสัญญา ATT เพื่อกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการ “ขาย” หรือ “ส่งออก” ไป โดยเฉพาะสนธิสัญญา ATT ข้อ 6 ห้ามการถ่ายโอนอาวุธ ข้อ 7 การประเมินการส่งออก และข้อ 10 การเป็นนายหน้า

ขณะที่ “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม (กฎหมายว่าด้วยโรงงาน) นั้น เป็นการ “ยกเว้น” ในลักษณะ “เด็ดขาด” จึงเห็นว่า การดำเนินกิจการตามร่าง พ.ร.บ. หากเข้าข่ายเป็นโรงงานอาจจะไม่มีหลักเกณฑ์การควบคุมในด้านต่าง ๆ ที่เป็นการป้องกันสาธารณะได้ เช่น หลักเกณฑ์การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมหรือความปลอดภัย

ด้าน “เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตว่า การได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ กฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน มาใช้บังคับแก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น กิจการที่สำนักงานเข้าร่วมทุนถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนนั้น

“เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งกำหนดมาตรการให้ชัดเจนและเพียงพอในการควบคุมยุทธภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การร่วมทุนกับสำนักงาน ให้มีความเหมาะสมและชัดเจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

เพื่อสานความฝันของกระทรวงกลาโหม-“บิ๊กป้อม” ให้ทะลุเป้า