รู้อยู่แก่ใจ! “มาร์ค” อัด คสช. ต่อรอง–ใช้ตำแหน่งล่อ ตอกย้ำการเมืองล้มเหลว

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ดูเหมือนคนในรัฐบาลประกาศแล้วว่า คิดถึงเรื่องของการจะตั้งพรรคการเมือง หรืออะไรทำไป แต่ที่ผมท้วงนี้ไม่ได้พูดในแง่ที่ว่าเป็นพรรคการเมือง แต่พูดในแง่ที่ว่า ระบบการเมืองแบบไหนที่เราต้องการ ถ้าเราพยายามจะบอกว่าปัญหาการเมืองในอดีตไม่อยากกลับไปที่เดิม เราก็ต้องไปดูว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่เป็นที่มาของวิกฤติทางการเมือง ปัญหาคือถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการตั้ง หรือการแข่งขันทางการเมืองที่สุจริต เที่ยงธรรม สุดท้ายก็ไปไม่ได้ จะเกิดความขัดแย้ง เกิดการไม่ยอมรับ ขาดความศรัทธาในกระบวนการทางการเมือง เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่หลายคนพูด ที่ใช้คำว่าดูด มันก็คือกลับไปเรื่องเดิมว่า ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมีความพยายามรวบรวมนักการเมืองด้วยการเสนอผลประโยชน์ จะเป็นในรูปแบบของเงินทอง ตำแหน่ง เอาอำนาจของรัฐมาใช้ในการต่อรอง เป็นบ่อเกิดของการเมืองที่ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็จะเป็นวิกฤติทางการเมือง เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และ คสช. ในฐานะที่ประกาศตัวเข้ามาว่าจะทำการเมืองให้ดีขึ้นนี้ ไม่ควรที่จะมีพฤติกรรมไปตอกย้ำปัญหา การเมืองที่ล้มเหลวในอดีต

ส่วนที่หลายคนที่เข้าข้างรัฐบาลบอกว่า อย่าพูดถึงขนาดที่เรียกว่าดูด แต่เป็นการเอาคนที่เห็นพ้องต้องกันเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองมารวบรวมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนว่าคนที่ทำอยู่ก็รู้อยู่แก่ใจ สิ่งที่ใช้พูดจะใช้คำว่าต่อรอง ก็คงไม่ผิด ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่ามีการแลกเปลี่ยน เป็นข้อเสนอ หรืออะไร ถ้าบอกว่ากระบวนการทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ ตนก็ถามว่ามันแปลกหรือไม่ เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นคัดเลือกคน ส่วนใหญ่เหมือนกับพยายามหลีกเลี่ยง เรื่องนักการเมือง ความจริงวันนี้ท่านจะพูดอะไรก็ตาม แต่ในอดีตที่ผ่านมาเกือบ 4 ปี ท่านพูดถึงนักการเมืองอย่างไร ทำไมวันนี้อยู่ดีๆ กลายเป็นว่าต่อไปนี้มีการมานำเสนอตำแหน่งทางการเมืองให้กับนักการเมือง เยอะผิดปกติ ไม่เหมือนกับ 4 ปีที่ผ่านมา จะอธิบายอย่างไร หากเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ก็ทำเลยตนไม่มีปัญหา

ส่วนอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์จะก้าวไปเป็นอย่างไรต่อในการเมืองที่จะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาอยู่ในพรรคฯ มีการพูดคุยกันในเรื่องของจุดยืน นโยบายในเรื่องต่างๆ เราค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า แนวทางของเรา ถ้าดูตามสากล อุดมการณ์เราคือเสรีนิยมประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยที่ไม่ได้พูดแค่ว่าเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องการเคารพเสียงข้างน้อย ยอมรับการตรวจสอบถ่วงดุล แนวทางนี้ก็จะต้องแปรไปสู่นโยบายในด้านต่างๆ หรือหลักคิดในด้านต่างๆ วันนี้ชัดเจนว่า หลักของเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ทุกคนต้องมีสิทธิ์ มีเสียง เป็นเจ้าของประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ต้องไปดิ้นรนจับมือกับใคร ถ้าพรรคมีความเห็นว่าจะทำงานกับใครแล้ว ไม่ตรงกับอุดมการณ์ นำพาบ้านเมืองไปผิดทิศผิดทาง พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นความไม่เข้าใจ เพราะบางพรรค เขาไม่สามารถที่จะอยู่เป็นฝ่ายตรวจสอบได้ ก็ต้องดิ้นรนในการที่จะเข้าหาอำนาจ เพราะฉะนั้นคงมาตีความสิ่งที่ตนพูดไม่ได้ เพราะกรอบความคิดไม่ตรงกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงคำว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยว่า มาจากคำว่า Liberal Democracy ความหมายที่สำคัญคือใครที่เคยอ้างประชาธิปไตย แต่ไม่เสรีนิยม พอมีอำนาจแล้ว นึกว่าตัวเองทำอะไรก็ได้ เสรีนิยมนี้จะเป็นตัวกำกับว่าคนที่เป็น แม้จะมาจากกระบวนการการเลือกตั้ง ที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมีอำนาจในขอบเขต มีขอบเขตของอำนาจที่จำกัด ไม่อย่างนั้นแล้วจะไปละเมิดสิทธิ เสรีภาพของคนอื่น เพราะฉะนั้นใครที่ทำการเมืองมาจากการเลือกตั้ง แต่กินรวบ รวบอำนาจ แทรกแซงองค์กรอิสระ ไม่ยอมรับการตรวจสอบ บริหารบ้านเมือง มีการไปข่มขู่คน บอกว่าใครไม่เลือกก็ไม่ทำงานให้ อย่างนี้ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย ซึ่งตนไม่กังวลว่า เสรีนิยม หรือเสรีเฉยๆ แต่กังวลพวกที่ไม่เสรีนิยม

ตัวหลักคือปัญหาของระบอบประชาธิปไตยของไทย การเจอภัยคุกคามจากทั้ง 2 ด้าน คือเผด็จการในรูปแบบเดิมๆ และเผชิญกับรูปแบบของเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ตอนที่เขาประกาศอุดมการณ์ เขาถึงบอกว่า เขาไม่เอาเผด็จการทุกรูปแบบเพราะเขารู้ว่ามีบางรูปแบบซ่อนมากับกระบวนการของประชาธิปไตยได้


ที่มา: ข่าวสดออนไลน์