คอลัมน์ : Politics policy people forum
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า การกระทำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เนื่องจากมีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการ ความคิดเห็นเพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค
แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การรณรงค์ให้มีการยกเลิก หรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสอง มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน
“ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คำวินิจฉัยศาลระบุ
เพียงเท่านั้น อนาคตของพรรคก้าวไกล ก็ถูกโหรการเมืองวิเคราะห์ทะลุเพดานไปถึงการ “ยุบพรรค” อาจรุนแรงถึงขั้น ตัดสิทธิ 44 สส.พรรค
เส้นทางสู่การยุบพรรค
ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังคำวินิจฉัยถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ในฐานะผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล เข้ายื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ กกต. บังคับกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 (1) พิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคทันที
ขั้นตอนต่อไป ในมาตรา 93 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 กำหนดไว้ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการล้มล้างการปกครอง ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา
จากนั้น กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง หรือมอบหมายให้นายทะเบียนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ และเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. จะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดําเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
ย้อนไปปี 2562 กกต.ก็เคยพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในความผิด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 เช่นกัน จากอุบัติเหตุยื่นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
นับแต่วันที่ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรค ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ใช้เวลาแค่ 27 วันเท่านั้น
กลับมาที่กรณีพรรคก้าวไกล หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ศาลจะวินิจฉัยในชอตต่อมาว่าจะตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหาร พรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก เป็นเวลา 10 ปี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 94
เหตุผล 44 สส.เสี่ยงถูกตัดสิทธิ
“ธีรยุทธ” ยังยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธา เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
การจะโยงความผิดของ “พิธา-พรรคก้าวไกล” ข้อหาฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต้องย้อนไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายพิธา) และ (ผู้ถูกร้องที่ 2) สส.พรรคก้าวไกล รวม 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ. … แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 25 มีนาคม 2564
เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิม เป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์พระราชินีรัชทายาทและเกียรติยศ ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
“…การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะหนึ่งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิด ในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป นั้นมุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ” คำวินิจฉัยระบุ
จากนั้นพลิกมาตรฐานทางจริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 2561 ซึ่งบังคับใช้กับ สส.ด้วยนั้น ใน หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ บัญญัติชัดเจน
ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ในขณะที่ ข้อ 27 กำกับว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
จึงเทียบเคียงได้กับกรณีที่ ศาลฎีกา มีคำพิพากษาคดี คมจ. 1/2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัยกรณีกล่าวหา น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน
ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การกระทำของ น.ส.พรรณิการ์ เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่
ขัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับว่า พรรคต้องเตรียมรับมืออุบัติเหตุร้ายแรงที่สุด-ยุบพรรค เตรียมต่อสู้ในชั้นองค์กรอิสระ กกต.-ป.ป.ช. เพื่อไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาอีกครั้ง