เปิดสเป็ก “ผู้ตรวจเลือกตั้ง” หน่วยจับโกง “มีชัย”

แฟ้มภาพ

นวัตกรรมการเลือกตั้ง ที่ถูก “มีชัย ฤชุพันธุ์” กับคณะ ติดตั้งในรัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากเพิ่มจำนวน “กรรมการการเลือกตั้ง” จาก 5 คน เป็น 7 คน

ยังเพิ่มกลไกที่เรียกว่า “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” เข้ามาทำหน้าที่ “จับผิด” การเลือกตั้งเป็นพิเศษอีกด้วย

“มีชัย” อธิบายเหตุผลที่ต้องมี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ว่า กรธ.เปลี่ยนบทบาท กกต.จากนั่งรับเป็นเชิงรุกมากขึ้นไม่อยากให้นั่งรออยู่เฉย ๆ แล้วมีคนมาแจ้งเบาะแสการทำผิดเลือกตั้ง โดยให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อหวังให้พวกนี้ออกไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะกลับมาบอก กกต.

ดังนั้น ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงที่มาของผู้ตรวจฯ โดยมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 8 คน ส่วน กทม. ให้มีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 8 คน

โดยวิธีเลือกให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ

คุณสมบัติสำคัญของ ผู้ตรวจฯ อาทิ จะต้องไม่เป็น “สมาชิกพรรค” ในเวลา 5 ปี ก่อนแต่งตั้ง ไม่เป็น “เครือญาติ” กับนักการเมือง ไม่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของในสื่อมวลชน

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ ประหนึ่ง “สายลับ” จับผิดการเลือกตั้ง

1.ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต.ทราบโดยเร็ว

2.ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือ การกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

3.เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง

เมื่อผู้ตรวจฯ พบการกระทำที่เป็นความผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือ “การกระทำ” หรือ “งดเว้นการกระทำ” ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

หรือ กรณีที่มี “เจ้าหน้าที่” ที่ดำเนินการเลือกตั้ง หรือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหลังจากถูกแจ้งเตือน

หรือ พบเห็น “กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง” หรือ “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย” ผู้ใดกระทำผิดตามกฎหมาย หรือทำให้เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต

ทั้งสองกรณี ให้รายงานคณะกรรมการ กกต. หรือ กกต.ทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป


การเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงมีทั้ง กกต.และผู้ตรวจการเลือกตั้ง คุมเข้มเป็นตาสับปะรด