“วราวุธ” ขึ้นแท่น “หลงจู๊” ถือธง “ชาติไทยพัฒนา” กำ 30 เสียงรอร่วมรัฐบาล

กว่า 4 ทศวรรษ พรรคชาติไทย (ชท.) หรือพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในปัจจุบัน ผ่านการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง (2531, 2538) พรรคร่วมรัฐบาล 10 ครั้ง (2518, 2519, 2522, 2529, 2535, 2540, 2544, 2550 สามครั้ง สามรัฐบาล สองพรรคการเมือง) พรรคแกนนำฝ่ายค้าน 1 ครั้ง (2526) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ครั้ง (2535, 2539, 2548, 2549)

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกสถิติว่า ชทพ.เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมากถึง 10 ครั้งและการพลิกบทบาทจากศัตรูกลับกลายเป็นมิตร-ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน (พปช.) ทำให้เกิดวาทกรรมว่าเป็น “พรรคปลาไหล”

“วราวุธ ศิลปอาชา” ที่ปรึกษาหัวหน้า ชทพ. ทายาททางการเมืองของ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตหัวหน้าพรรค-อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 สัมภาษณ์พิเศษผ่านหน้ากระดาษ “ประชาชาติธุรกิจ” สวมบท “หลงจู๊” วิเคราะห์ “ศึกสามก๊ก” เพื่อไทย (พท.)-ประชาธิปัตย์ (ปชป.)-พรรค คสช.

Q : พรรคมีข้อจำกัดหรือไม่ว่าจะสนับสนุนนายกฯทหาร หรือนายกฯพลเรือน

สถานการณ์การเมืองในแต่ละยุคสมัย เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง กระแสของประชาชนที่ไปลงคะแนนจะเป็นตัวกำหนด การไปสร้างเงื่อนไขมัดตัวทำให้สังคมเดินหน้าไปไม่ได้ วันนี้ถ้าเลือกตั้งแล้ว แต่ยังตั้งเงื่อนไขกันอยู่ การเลือกตั้งจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ ทุกคนอยากเลือกตั้ง ดังนั้นอย่าตั้งเงื่อนไขจนไม่ได้เลือกตั้ง

Q : ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของพรรคให้ร่วมรัฐบาล

ถ้าท่านเป็นหนึ่งในชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ พรรคการเมืองก็ต้องมาคุยกันว่าได้ ไม่ได้ พรรคที่บอกว่าไม่ได้ก็อาจจะได้ก็ได้ พรรคที่บอกว่าสนับสนุนอาจจะไม่สนับสนุนก็ได้ สถานการณ์ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ แต่ละเดือนเปลี่ยนตลอด กระแสสังคมเป็นส่วนหนึ่ง แต่เงื่อนไขและบริบททางการเมืองจะเป็นตัวตัดสินว่า ถึงเวลาโหวตกันแล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครที่ว่าแน่อาจจะไม่ได้ก็ได้

Q : อนาคตชาติไทยจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สนับสนุนทหารเหมือนปี”35 หรือไม่

สมัยนั้นการเมืองไทยไม่ซับซ้อน ไม่มีกติกาที่วุ่นวายเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้ามีการแบ่งกลุ่ม แบ่งพวกกันรุนแรงเหมือนในประวัติศาสตร์ คงมีคนออกมาเพื่อต่อต้านการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่า ถึงแม้จะเลือกตั้งไปแล้ว ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวาย จนเป็นข้ออ้างไม่ให้มีการเลือกตั้ง

เอกลักษณ์การทำงานของพรรคอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนคุณลุงคุณอา เคยเป็นพรรคใหญ่จัดตั้งรัฐบาล แต่ผลที่ตามมามีมุ้งเยอะเหลือเกิน อยู่พรรคเดียวกันแต่คนละพวก วันนี้เป็นพวกเดียวกันแต่คนละพรรคดีกว่า

Q : เป็นพวกเดียวกันหมายถึง ชทพ.จะเป็นพันธมิตรกับทุกพรรค

เราพูดจา พบปะกับทุกพรรค ไม่ถึงกับผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ

Q : ถ้าหาก คสช.ตั้งพรรคการเมือง จะเป็นพันธมิตรกับพรรค คสช.

ผลคะแนนการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน พรรคร่วมกับทุกพรรคได้หากมีแนวนโยบายเดียวกันและนำนโยบายของเราไปปฏิบัติ

Q : ปัจจุบันกติกาถูกออกแบบให้เกิดความซับซ้อน

พรรคการเมืองต้องมาคุยกัน พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด อาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หรืออาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เราต้องมานั่งคุยกันว่าแต่ละพรรคจะทำงานกันอย่างไร สถานการณ์จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจอาจจะมีสถานการณ์พิเศษบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง แต่ตอบไม่ได้ว่าคือ สถานการณ์อะไร เพราะการเมืองในปัจจุบันซับซ้อนเหลือเกิน

บางสถานการณ์เขาอาจจะไม่อยากได้เราก็ได้ ถึงแม้ว่าจะมี 20-30 เสียงแต่ก็ต้องเอา มิฉะนั้นแล้วเสียงของรัฐบาลอาจจะไม่พอ ก้ำกึ่ง พลิกปุ๊บ…จากฝ่ายค้านกลายไปเป็นรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเหมือนสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า เอ๊ะ ถ้าเป็นนายบรรหารจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งได้คำตอบให้กับตัวเองทุกครั้งว่า นายบรรหารก็คงจะตอบไม่ถูกเหมือนกัน

การเมืองไทยไม่เคยเป็นเหมือนสถานการณ์ปัจจุบัน สมัยก่อนมี 2 ขั้ว แต่วันนี้มี 3 ขั้ว ศัตรูของศัตรูคือมิตรหรือเปล่า ศัตรูของเพื่อนแปลว่าเป็นศัตรูของผมหรือเปล่า enemy of my enemy เท่ากับ my friend หรือเปล่า แต่บังเอิญศัตรูของศัตรูไม่จับมือกันอีก (หัวเราะ) สรุปแล้ววันนี้มันมีกันกี่ขั้วกันแน่ สมการในวันนี้เป็น 3 มิติ การเมืองความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

Q : คนอาจจะมองว่าพรรคไม่มีจุดยืน

ถ้าเราเป็นพรรคที่ไม่มีจุดยืน ทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาจึงวางใจที่จะมีพรรคร่วมรัฐบาล ทำไมนายกฯชวน (หลีกภัย) นายกฯอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ถึงอุ่นใจที่มีคนชื่อบรรหาร มีพรรคชาติไทยอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ทำไมนายกฯทักษิณ (ชินวัตร) ถึงได้อุ่นใจ วางใจ โทร.หาคนชื่อบรรหาร โทร.หา ชท.เป็นพรรคแรกในการฟอร์มทีมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

Q : แล้วจุดยืนของพรรคคือ

สัจจะและการให้สัญญา เราแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อเราร่วมรัฐบาลหลายครั้งหลายหน กระแสสังคมออกมาขอให้เราถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วม เราก็ไม่ถอน เพราะเราสัญญาว่า เราจะอยู่ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล สมัย พปช. เราไม่ออกจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไปพร้อมกัน การที่เราอยู่ทำงานกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว เรายึดมั่นในสัญญาที่ให้ไว้ ทำงานจนครบวาระ ครบสมัยการทำงานของรัฐบาลนั้น เป็นจุดยืนที่ชัดเจน

Q : กว่า 3 ทศวรรษพรรคเปรียบเป็นเสมือนมรดกของศิลปอาชา

ไม่ใช่ บารมีและพรรคทางการเมือง ไม่สามารถยกให้กันได้ ถึงเวลาเสียชีวิตไปแล้ว นายบรรหารไปเขียนไว้ในพินัยกรรมว่าขอยกพรรคและบารมีทั้งหมดที่พ่อมีให้นายวราวุธ มันเขียนได้

แต่จะมีใครฟังหรือเปล่า และถ้าทายาทไม่เอา ไม่ทำต่อ ต่อให้ยกพรรคให้เป็นมรดกก็คงไม่เอาพรรคการเมืองไม่ใช่สิ่งของที่จะยกให้ใครก็ได้ และ ชทพ.เกิดมาจากการก่อร่างสร้างขึ้นมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรคหลายร้อยชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงไม่สามารถตกทอดให้ใครก็ได้เหมือนกับทรัพย์สิน

Q : พรรคจะไม่เป็นพรรคของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือเป็นพรรคของคนจังหวัดสุพรรณบุรี

จากการที่นายบรรหารเป็นหัวหน้าตั้งแต่ ชท.จนถึง ชทพ. คนจึงยึดติดภาพนั้น ดังนั้นกาลเวลาและการทำงานจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ความเป็นตัวตนของพรรคหรือการดำรงอยู่ของพรรคนั้น แต่ละยุคแต่ละสมัยลักษณะการทำงานแตกต่างกันอย่างไร

Q : ชื่อวราวุธจะเป็นแถวหน้า เป็นเบอร์ 1 ของพรรคแน่นอน

ตัวผมเองจะอยู่ในสถานะใด พรรคนี้ก็ยังเป็นบ้านของผม จะได้เป็นหัวหน้าพรรค จะได้เป็นสมาชิกพรรคธรรมดา พรรคนี้ก็ยังเป็นบ้านของผม ไม่มีความจำเป็นที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะพรรคเป็นบ้านของผม ผมจึงไม่เดือดร้อนที่จะไปมีตำแหน่งแห่งหนใด ผมมั่นใจว่า ผมสามารถทำงานให้กับบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด เพื่อให้บ้านหลังนี้เติบใหญ่ขึ้น

Q : โครงสร้างการบริหารและการตัดสินใจของพรรค

คงจะไม่มีแล้วที่คนคนเดียวทุบโต๊ะสั่งได้ทั้งหมด บางเรื่องอาจจะมีการชี้แนะจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค หรือการนำเสนอของคนหนุ่มรุ่นใหม่ แต่ท้ายที่สุดต้องเข้าสู่การประชุมเป็นมติพรรค

ที่ผ่านมาการตัดสินใจของนายบรรหารแต่ละครั้ง สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่จะเห็นด้วยจนเป็นมติของพรรคและเข้าใจดีว่า ถึงแม้จะผิดพลาด แต่นายบรรหารจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ครั้งนี้บุคลากรของพรรคมีทั้งผู้หลักผู้ใหญ่และคนหนุ่ม ผสมผสาน แต่บทบาทของคนรุ่นใหม่จะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กระแสคนรุ่นใหม่จะเกิดขึ้น แต่ผมไม่เชื่อว่า คนหนุ่ม

รุ่นใหม่อย่างเดียวจะเป็นคำตอบในการพาสังคมไทยเดินหน้าไปข้างหน้าได้มากไปกว่าในปัจจุบัน ยังไม่เชื่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ผมมั่นใจว่าการผสมผสานการทำงานกันอย่างลงตัวจะทำให้พรรคเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

ความคิดริเริ่มทางการเมืองใหม่ ๆ จะมาจากทีมงานคนหนุ่ม โดยการชี้แนะของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคทุกคนยินดีผันตัวขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา จากนี้ไปการทำงานของพรรค เวลาและการกระทำจะเป็นตัวตัดสิน การเลือกตั้งครั้งหน้าเลขาธิการพรรคจะไม่ได้อยู่สุพรรณบุรี อาจจะไม่ได้อยู่ภาคกลางด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่า ชทพ.ไม่ใช่พรรคการเมืองของภาคใดภาคหนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

นับจากนี้พรรคจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เราจะพลิกหน้าสมุดเล่มนี้ที่ชื่อชาติไทยพัฒนา เริ่มบทบาทหน้าใหม่อีกบทหนึ่ง แต่ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่chapter หนังสือเล่มนี้ บ้านหลังนี้ที่ชื่อชาติไทยพัฒนาจะยังอยู่ ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ ไม่มีนโยบายที่จะไปยุบ ไม่มีนโยบายที่จะไปขาย ไม่มีนโยบายที่จะให้ใครมาเทกโอเวอร์