จับตา กมธ.นิรโทษกรรม เตรียมพิจารณารวมความผิดมาตรา 112 หรือไม่

กมธ.นิรโทษกรรม

กมธ.นิรโทษกรรม เตรียมพิจารณาความผิดมาตรา 112 อาจตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองความผิดรายบุคคล

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. ได้นัดประชุม กมธ. ในวันที่ 30 พฤษภาคม โดยมีวาระนัดลงมติในประเด็นข้อศึกษา 2 เรื่องคือ การตั้งคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และนิยามของคำว่า “แรงจูงใจทางการเมือง”

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก กมธ.ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าการลงมติจะไม่เกิดขึ้น แต่คงเป็นการหาแนวทางและข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้ กมธ.ต้องการทำเรื่องดังกล่าวให้จบภายในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการตั้งกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนั้น มีรายละเอียดที่อาจตั้งต้นจากการพิจารณาว่าการนิรโทษกรรมควรจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดี มาตรา 112 เป็นรายบุคคลหรือไม่ หาก กมธ.มองว่าไม่ตัดและนำไปรวมด้วย จะทำเป็นบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. และให้กรรมการที่ตั้งขึ้นพิจารณา

ส่วนกรณีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่ถูกจับตาเกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกอัยการสูงสุดฟ้องหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ยอมรับว่าถูกจับตา และคาดคั้นให้พรรคเพื่อไทยต้องพูด ซึ่งตนบอกแล้วว่าหากพูดแล้วจะโดน เนื่องจากคนของเราหลายคนโดน หากพูดเท่ากับว่าเราต้องการช่วยคนของเรา พูดแล้วจะมีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอ และจะไม่ขัดขวาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการตั้งกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ก่อนหน้านั้น กมธ.ได้พิจารณารายงานที่อนุกรรมการเสนอว่าด้วยองค์ประกอบของกรรมการ รวมถึงหน้าที่และอำนาจแล้ว แต่เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

เช่น องค์ประกอบของกรรมการ ที่มีข้อเสนอให้มีผู้พิพากษาร่วมด้วย ซึ่ง กมธ.ฝั่งตัวแทนผู้พิพากษามองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นผู้พิพากษามาจากองค์กรตุลาการ ทำให้อนุกรรมการนำกลับไปพิจารณาและเสนออีกครั้ง นอกจากนั้น ในกรอบอำนาจและหน้าที่ มีประเด็นที่ กมธ.ชุดใหญ่ทักท้วงในความกังวลว่าจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการและบริหาร

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการลงมติเรื่องดังกล่าวมีแนวโน้มที่ กมธ.เสียงข้างมากจะเห็นชอบ เพราะสามารถทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคดีที่มีหลักเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมที่เป็นคดีปัจจุบันได้