ปักธงรัฐธรรมนูญใหม่ ปลดล็อกลงคะแนนประชามติ

new constitution

เกือบ 1 ปีของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นโยบายการเมืองเร่งด่วน อย่างการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ใกล้เป็นรูป-ร่างขึ้นมาอีก 1 สเต็ป

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเศรษฐาตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

ผ่านการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ “ตีความ” ข้อสงสัยของรัฐบาลและรัฐสภา จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ว่า รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่

เพราะก่อนหน้านี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 มีใจความสำคัญว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องไปทำประชามติถามประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก่อนว่าเห็นชอบหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง

ที่สุด คณะกรรมการจึงชงเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบการทำประชามติรวม 3 ครั้ง ใช้งบประมาณทั้งครั้งละ 3,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

3 ครั้ง 3 ขั้น ประชามติ

การทำประชามติครั้งที่ 1 ขั้นถามความเห็นผู้มีสิทธิออกเสียง ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

ADVERTISMENT

ถ้าได้รับการเห็นชอบจากประชาชน ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวมถึงสัดส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระยะเวลากี่วัน

การทำประชามติครั้งที่ 2 หลังจากมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่กำหนดว่า หากแก้หมวดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติ

ADVERTISMENT

เมื่อการทำประชามติครั้งที่ 2 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนต่อกระบวนการ-วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การทำประชามติครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แก้กฎล็อก 2 ชั้นนับเสียงโหวต

ทว่ากระบวนการทำประชามติอาจจะรออีกยาวราว 6 เดือน เพราะต้องมีการ “ปลดล็อก” คะแนนโหวตประชามติเสียก่อน เนื่องจากปัจจุบันนี้ในพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ 2564 ได้กำหนดเสียงชี้ขาดไว้ โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

คือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียง

2.มีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

เช่น ชั้นที่ 1 ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมีจำนวน 52 ล้านคน จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกิน 26 ล้านคน จึงจะถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

จากนั้น ชั้นที่ 2 หากมีมาใช้สิทธิหย่อนบัตร 40 ล้านคน จะต้องมีคนลงคะแนน “เห็นชอบ” กับประเด็นที่ทำประชามตินั้น เกิน 20 ล้านคน

ทั้งพรรคขั้วรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย ขั้วฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล เห็นตรงกันว่า การใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นอาจเป็น “อุปสรรค” ต่อการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จับมือกันชงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ปลดล็อกกติกา 2 ชั้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

โดยร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยกำหนดว่า การออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น

ร่างพรรคก้าวไกล กำหนดว่าจะต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องจัดทำประชามตินั้น

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม กำหนดว่า

“ให้การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง และต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

ประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ในร่างของรัฐบาลยังกำหนดการลงคะแนนประชามติ สามารถกำหนดให้เป็นวันเดียวกับการเลือกตั้งระดับต่าง ๆ เช่น

1.ถ้ามีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกเสียง อาจกำหนดให้วันออกเสียงเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้ง

2.กำหนดให้การออกเสียงให้กระทำโดยใช้บัตรออกเสียง หรือการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่น โดยวิธีการนั้นสามารถป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก

และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่ง หรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

3.กำหนดให้เมื่อได้ประกาศกำหนดวันออกเสียง แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับอย่างทั่วถึง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

4.กำหนดให้การออกเสียงจะใช้เขตประเทศ เขตจังหวัด เขตอำเภอ เขตเทศบาล เขตตำบล เขตหมู่บ้าน หรือเขตอื่นเป็นเขตออกเสียงก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

5.กำหนดให้การกำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงตาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ในกรณีที่พื้นที่ใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระในวันเดียวกับการออกเสียง

ให้ถือว่าหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งของการเลือกตั้งนั้น เป็นหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียงตามพระราชบัญญัตินี้ในพื้นที่ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

เข้าคูหาปลายปี

“นิกร จำนง” โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กล่าวว่า ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว จากนั้นจะลงมาที่สภาเพื่อให้วิปรัฐบาลพิจารณา ซึ่งวิปรัฐบาลจะพิจารณาในวันที่ 6 มิถุนายน ตัวแทนจาก ครม.มาชี้แจง และเมื่อผ่านความเห็นชอบของวิปแล้วจะส่งกลับไปที่ ครม. อีกครั้งเพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.คาดว่าจะเป็นวันที่ 17 มิ.ย. พร้อมกับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบร่างแล้ว หลังจากนั้นขอความเห็นชอบ และนำเข้าบรรจุวาระในการประชุมสภาในวันที่ 18 มิ.ย. โดยพิจารณาพร้อมกับร่างของพรรคก้าวไกล และของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

นายนิกรกล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนี้เมื่อสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ต้องรอวุฒิสภาชุดใหม่ หากไม่มีปัญหาอะไร เมื่อ สว.ชุดใหม่พิจารณาเสร็จ ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ และหลังจากโปรดเกล้าฯลงมาตามมติ ครม. ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ มาพิจารณารายละเอียดว่าจะทำประชามติวันไหน

ซึ่งจะดำเนินการภายในกี่วันขึ้นอยู่กับกฎหมายกำหนด โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประกาศวันทำประชามติ เนื่องจากการทำประชามติเป็นการทำในนามของรัฐบาล ซึ่งคิดว่าไม่เกินปลายปีนี้ น่าจะได้ทำประชามติ