ฟังความ 2 ข้าง โฆษกรัฐบาล-ขุนพลเศรษฐกิจก้าวไกล ขยี้ขยายแรงเหวี่ยงดิจิทัล 10,000 บาท

ฟังความ 2 ข้าง โฆษกรัฐบาล-ขุนพลเศรษฐกิจก้าวไกล ขยี้ขยายแรงเหวี่ยงดิจิทัล 10,000 บาท

โฆษกรัฐบาลโชว์แพ็กเกจเศรษฐกิจ หวังดันโมเมนตัมเศรษฐกิจเป็นแรงเหวี่ยงปะทะพายุเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขุนพลเศรษฐกิจก้าวไกล “ศิริกัญญา” สวนหมัดมาตรการรัฐ “ช้าและน้อย”

คืบอีกขั้นกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 50 ล้านคน รายละ 10,000 บาท หลังรัฐบาลเดินหน้ามากว่า 10 เดือน เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศว่า “โครงการดิจิทัลวอลเลตไม่คอยเก้อแน่นอนครับ” เป็นการการันตีให้ประชาชนใจชื้นว่าได้เงินหมื่นแน่ โดยจะเริ่มสตาร์ตเครื่องเปิดให้ลงทะเบียน 1 สิงหาคมนี้

แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็อีกหลายเดือน ปากท้องประชาชนต้องกินต้องใช้ รายจ่ายหนี้สินเดินหน้าไม่มีหยุดเครื่องรอ ทำให้หลังประชุมบอร์ดดิจิทัล นายกฯเศรษฐาต้องไปต่อด้วยการปักหมุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

ผ่านวาระ “สั่งการ” ให้ 3 กระทรวงด้านเศรษฐกิจ คลัง พาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ คลอดแพ็กเกจช่วยเหลือประชาชนให้เกิดผลทางการปฏิบัติภายใน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อเป็นแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจ ยาวไปถึงไตรมาสสุดท้าย ที่ประชาชน 50 ล้านคนจะได้ใช้จ่ายเงินรายละ 10,000 บาท

 เปิดแพ็กเกจแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจ 3 เดือน

กระทรวงการคลังเน้นการแก้ปัญหาหนี้ จึงออกมาตรการ 1.แก้ปัญหาหนี้บ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.แก้ปัญหาหนี้รถยนต์ ที่ขณะนี้เริ่มผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น 3.แก้หนี้บัตรเครดิต ด้วยคลินิกแก้หนี้ 4.แก้ปัญหาหนี้สินรายย่อย โดยให้ธนาคารออมสินดำเนินการ 5.แก้หนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 6.ปล่อยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 (บสย.) และ 7.แก้ปัญหานี้นอกระบบ

กระทรวงเกษตรฯเน้นการออกสินเชื่อทางการเกษตร (ขณะนี้กำลังพิจารณาดำเนินการ) คือ 1.สินเชื่อเครื่องจักรกล 2.การนำเงินกองทุนมาใช้ 3.โครงการเงินทุนสนับสนุนให้เงินเกษตรกรทำอาชีพเสริมระหว่างรอเก็บเกี่ยว 4.โครงการเกษตรกร ไม่เผาเราช่วยไถ และ 5.ส่งเสริมแนวทางปลูกพืชตาม AgriMap แลกพันธุ์ดี

ADVERTISMENT

กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณามาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ อาทิ 1.พิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 2.ขอความร่วมมือผู้ผลิตรายใหญ่ลดราคาสินค้า 3.จัดทำปฏิทินผลไม้ เพื่อพยุงราคาด้วยการบริหารอุปทานและอุปสงค์ และ 4.เจรจาลด Credit Term ระหว่างร้านค้ากับ MSMEs (เดิมระยะเวลา 6 เดือน)

ทว่าหากสแกนชัด ๆ มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ยาแรงที่จะมาแก้ปัญหาปากท้องได้ทันที ส่วนใหญ่เป็นมาตรการเก่าที่มักถูกงัดมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปพลาง ๆ

ADVERTISMENT

“ศิริกัญญา” จี้ “มาช้า มาน้อย ดับไฟไม่ได้”

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคแกนนำฝ่ายค้านประเมินว่า “แพ็กเกจที่ ครม.เศรษฐกิจออกมาคือวิธีเดิม ๆ ที่ทุกรัฐบาลมักหยิบใช้ โดยรัฐบาลปัจจุบันเคยนำมาตรการเหล่านี้มาใช้แล้ว แต่ไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ ซึ่งนโยบายล่าสุดออกมาช้าและน้อยเกินไป เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้ควรดำเนินการให้ชัดเจนนานแล้ว”

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลยกตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาค่าครองชีพ ทางกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการมานานแล้ว ก่อนหน้านี้ประกาศจะลดราคาสินค้า 1.5 แสนรายการ ผลสุดท้ายแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลงได้จริง หรือหากทำได้สินค้าควบคุมส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่กลุ่มไม่ค่อยได้รับความนิยม

“ระเบียงบ้านกำลังไฟไหม้ แต่ไม่ยอมเอาน้ำออกมาใช้ก่อน รอรถดับเพลิงที่จะมาพรุ่งนี้เช้า สุดท้ายไฟลุกลาม และจะมาสะดุ้งตื่นแล้วเอาน้ำพรม ๆ ก็ไม่ช่วยให้ลดความรุนแรงได้” น.ส.ศิริกัญญาเปรียบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล

“ฉะนั้น หากจะหาวิธีแก้ปัญหาค่าครองชีพได้ในระยะสั้น ควรเน้นการช่วยเหลืออย่างแจกคูปองลดราคาน้ำมันในปริมาณที่กำหนด แต่มองว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลเตรียมงบฯกลางปี’67 ไว้ใช้แผนอื่นแล้ว ประกอบกับตอนนี้เงินเหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านจึงไม่เพียงพอ”

ส่วนมาตรการที่คาดว่าดำเนินการได้ น.ส.ศิริกัญญาเสนอว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำเงินสะสมที่เก็บไว้มาใช้กระตุ้นการลงทุนในชุมชนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน แต่อยู่ที่ว่าจะให้ความร่วมมือเพียงใด โดยรัฐบาลอาจให้แรงจูงใจด้วยการช่วย อปท.ออกเงินคนละครึ่ง ซึ่งเงินจำนวนไม่กี่ล้านสำหรับท้องถิ่นถือว่ามีความหมายเยอะมาก

น.ส.ศิริกัญญาประเมินมาตรการที่ออกมาใช้ช่วง 3 เดือนจากนี้ คงทำได้เพียงแค่ประคองสถานการณ์ และรอให้ถึงช่วงสิ้นปีเพื่อจะได้แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่จะมาช่วยทำให้เศรษฐกิจประเทศกระเตื้องแบบอัตโนมัติ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลย้ำว่า อยากให้รัฐบาลโฟกัสปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าโฟกัสเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเลตเท่านั้น

โฆษกรัฐบาลฟันธง “เศรษฐกิจไทย แรงสุดฉุดไม่อยู่”

หลังมาตรการที่ถูกรวบรวมเป็นแพ็กเกจ ถูกแถลงต่อสาธารณะ “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขยี้-ขยายประเด็น การนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ ว่าเม็ดเงินในแพ็กเกจเศรษฐกิจจะถึงมือประชาชนเท่าไร-อย่างไร-เมื่อไหร่

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มองต่างมุมกับขุนพลเศรษฐกิจพรรคฝ่ายค้าน ตรงกันข้ามเขามั่นใจว่ามาตรการที่คลอดออกมาสามารถช่วยประชาชนช่วง 3 เดือนได้แน่ เพราะแผนที่รัฐบาลออกมาหลัก ๆ เน้นแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนระยะสั้นที่ขณะนี้มีมูลค่าสูงถึง 13.6 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากดอกเบี้ย และหากยืดระยะเวลาการชำระออกไป จะทำให้การผ่อนจ่ายลดลง ทำให้ลูกหนี้มีเงินเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน

นายชัยยกตัวอย่างว่า การแบ่งเบาภาระค่าดอกเบี้ยรวมถึงยืดระยะเวลาการชำระหนี้ กยศ.ที่มีการคำนวณดอกเบี้ยใหม่ จะทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินคืนตามเงื่อนไขเดิม และอาจได้เงินส่วนที่จ่ายไปเกินกลับคืน โดยกลุ่มนี้ผู้มีสิทธิ 3.65 ล้านราย วงเงินประมาณ 5.61 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของ ธอส.จะทำให้ลูกหนี้กว่า 3 ล้านรายได้รับผลทันที

“มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ผลคือทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ฉะนั้น เมื่อเหลือเงินมากขึ้น เงินก็จะถูกใช้ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น” นายชัยแสดงความมั่นใจถึงมาตรการแก้หนี้รัฐบาล

ส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นการช่วยเหลือเฉพาะลูกหนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาครอบคลุมทั้งระบบภายในครั้งเดียว โฆษกรัฐบาลอธิบายว่า บางเรื่องขึ้นอยู่กับแต่ละนโยบายที่เหวี่ยงแห ครั้งหนึ่งก็ครอบคลุมหมด แต่บางเรื่องต้องออกหลายนโยบายมาเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เมื่อทำได้ก็จะทำให้วงจรเศรษฐกิจมีการซื้อสูง จากนั้นจะทำให้การค้าขายคึกคัก เศรษฐกิจดีขึ้นตามมา

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลจากมาตรการรัฐที่ออกมาจะทำให้เศรษฐกิจไม่ดิ่งกว่านี้หรือไม่ นายชัยมั่นใจว่า 3 เดือนจากนี้จีดีพีจะไต่สูงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นหวือหวา แต่มั่นใจดีกว่าก่อนหน้านี้ช่วงไตรมาสแรกของปี’67 จีดีพีอยู่เพียง 1% กว่า ๆ เนื่องจากประเทศแทบไม่มีการลงทุนจากรัฐ เพราะไม่มีงบประมาณลงไปด้วย สาเหตุงบฯล่าช้า

แต่เชื่อว่าไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ปี’68 จีดีพีจะโตแรงขึ้น เพราะได้อานิสงส์แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าปี’68 นักท่องเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยมาจากนักท่องเที่ยว 5 ประเทศหลัก ๆ คือ จีน มาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้

โฆษกรัฐบาลย้ำความมั่นใจว่า หลังจากนี้เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐเมื่องบฯ 67 และ 68 ลงไป จะทำให้เครื่องสูบทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้เต็มที่ เกิดการหมุนเวียน ซึ่งคาดการณ์ว่าปี’68 เม็ดเงินการลงทุนจะสูงถึง 9 แสนล้าน เพิ่มจากปี’66 ที่การลงทุน 6 แสนกว่าล้าน ปี’67 มีการลงทุน 8.05 แสนล้าน

“ผมฟันธง ปีหน้าเศรษฐกิจดีแน่นอน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะบูมสุด ๆ”  โฆษกรัฐบาลปิดท้ายการสนทนา