สภา ถกงบฯ แจกเงินดิจิทัล 10,000 เสียงข้างมากเห็นชอบวงเงิน 1.22 แสนล้าน

สภาถกงบประมาณเพิ่มเติม 2567 เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต ที่ประชุมเห็นชอบมาตรา 3 วงเงิน ระบุ 1.22 แสนล้านบาท

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันดิภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนแล้ว เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 6 มาตรา ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดย กมธ.ไม่ได้มีการแก้ไข

ทั้งนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ รมว.คลัง ในฐานประธาน กมธ. แถลงว่า กมธ.ได้ร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ความคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

รวมถึงความสามารถในการแข่งขันผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผ่นแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการใช้งบประมาณให้เกิดคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงสุด มีมาตรการในการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ และยินดีตอบข้อซักถามทุกมาตรา

จากนั้นเป็นการพิจารณาตามรายมาตรา โดยมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 122,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุต่อไปในพระราชบัญญัตินี้

Advertisment

ทั้งนี้ มีสมาชิกขอสงวนความเห็น และขอแปรญัตติปรับลดวงเงิน โดยเฉพาะ สส.ของพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ ที่ประชุมอภิปรายถึงปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งทักท้วงการออกงบฯเพิ่มเติมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินระหว่างปีงบประมาณ คือต้องมีความจำเป็นจะต้องใช้เงิน 1.22 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67 เท่านั้นหรือไม่

นายจุลพันพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568  ชี้แจงว่า วันนี้รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาใน 10 ปีก่อนนี้ที่มีการเติบโตตกต่ำ ฉะนั้นรัฐบาลยืนยันว่าจำเป็นต้องมีเม็ดเงินเติมลงไปเพื่อกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ทุกตัวเลขรัฐบาลตระหนักและดูอย่างใกล้ชิดทั้งสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้รัฐ

Advertisment

และยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่มีตัวเลขใดที่มีความสุ่มเสี่ยงจะทะลุ เกิน หรือผิดพลาดไปจากกลไกที่เราได้มีการตรากฎหมายกำกับไว้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันว่าเราทำงานอย่างรอบคอบ และจะไม่ให้มีปัญหาวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต

อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่เราได้ให้ไว้กับการเดินหน้า สิ่งสำคัญคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่มากเพียงพอ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยเป็นที่ทราบว่าตกต่ำ ในปีนี้ด้วยการผลักดันแนวนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ไตรมาส 1 ประกาศตัวเลขมา 1.5 เปอร์เซ็นต์ เห็นแบบนี้แล้วเราอยู่ด้วยความเป็นห่วง

แต่ด้วยนโยบายหลาย ๆ ตัวของรัฐบาล พอมาไตรมาส 2 ถีบขึ้นมา 2.7 ด้วยการเร่งเครื่องของรัฐบาล ประกอบกับนโยบายที่เราจะเติมลงไป รวมถึงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตด้วย เรายิ่งมีความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถดึงการเจริญเติบโตกลับไปอยู่ในระดับเหมาะสมคือ 4-5 เปอร์เซ็นต์ได้

นายจุลพันพันธ์ อมรวิวัฒน์

ที่มีหลายคนมีความห่วงใยในการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ด้วยหน่วยงานได้มาชี้แจงทุก ๆประเด็น ซึ่งที่มีการอภิปรายมากสุดคือการใช้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แต่อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายในไตรมาส 4 ปี 2567 จะสอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 21 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 4 กำหนดคำว่า “หนี้” หมายความว่า ข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย อาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ

ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันจากการกู้ยืม การค้ำประกัน การซื้อหรือการจ้าง โดยใช้เครดิตหรืออื่นใด ดังนั้นการก่อหนี้ผูกพันจึงมิได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงข้อผูกพันที่อาจทำให้ต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการโครงการของรัฐอาจไม่มีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่ดำเนินการโครงการในรูปแบบแผนงาน

ประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันของหน่วยรับงบประมาณต้องเป็นไปตามแผนการบริหารงาน และแผนงานการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นความชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ดังนั้นการที่รัฐบาลทำโครงการดิจิทัลวอลเลตและให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่าย

“หรืออาจจะต้องจ่ายตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของหนี้ ซึ่งประเด็นนี้หน่วยงานที่มาชี้แจงของ กมธ.ก็ได้บอกชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการเสนอและสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิในเรื่องของการเติมเงิน 10,000 บาท คือการเสนอให้กับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิให้กับประชาชน นั่นคือการสนองตอบตามข้อสัญญานั้น ก็มีนิติกรรมร่วมกัน ระหว่างประชาชนกับรัฐ ที่เปรียบเทียบโครงการอื่น ๆ ในอดีตของรัฐก็เป็นเช่นนี้ คือการตั้งงบประมาณไว้รอการทำสัญญากันระหว่างประชาชนกับรัฐ” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับการขอหรือเบิกจากคลังหรือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มาตรา 43 กำหนดว่า กรณีเบิกจ่ายงบฯไม่ทัน หน่วยงานรับงบประมาณสามารถขอขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังจากข้อที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เรื่องดิจิทัลวอลเลตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณประจำปี 2568 ได้

และเมื่อได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนของประชาชนแล้วก็ถือเป็นข้อผูกพันที่จะนำไปสู่กระบวนการใช้จ่าย และเบิกจ่ายงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมาย ฉะนั้นหน่วยงานที่มาชี้แจงยืนยันกับเราทั้ง 8 หน่วยงานนั้นชี้แจงอย่างชัดเจนว่าทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ

ต่อมา ที่ประชุมมีมติ มาตรา 3 โดยเห็นด้วยตามร่างเดิมที่ผ่านชั้นกรรมาธิการ ด้วยเสียง 287 ต่อ 170 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่เห็นด้วย 1

ไอติม

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ลง จำนวนทั้งสิ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ขอเรียนว่าการอภิปรายวันนี้บีบหัวใจจริงๆ เห็นใจพี่น้องประชาชน ว่าเงินดิจิตอลวอลเล็ตจะต้องไปถึงมือพี่น้องประชาชนให้ได้

จึงไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่นอยากจะให้เงินดิจิตอลไปถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ขอเรียนว่าเป็นการกระทำที่ส่อขัดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 21 ซึ่งกำหนดไว้ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็น ที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ ความหมายก็คือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในปีหน้าถ้าเสนอเข้ามาแล้ว หมายถึงว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่เสนอเพิ่มเติมเข้ามาจะไม่สามารถที่จะเสนอเพิ่มเติมเข้ามาได้ เนื่องจากว่ารัฐบาลได้เสนองบประมาณรายจ่ายปี 2568 ต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ไปกว่านั้นอีก ในคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รายการที่เสนอขอเข้ามาเป็นรายการเดียวกัน คือดิจิตอลวอลเล็ต ทั้งนี้ เพราะการเสนอขอตั้งงบปี 2568 โครงการเงินดิจิตอลวอลเล็ตตั้งไว้ 152,700 ล้านบาทเท่านั้น ไม่สามารถตั้งให้ครอบคลุมงบประมาณทั้งหมด 450,000 ล้านบาท จึงเลี่ยงโดยขอย้อนกลับไปตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 มาอีก 122,000 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการส่อว่าจะขัดกฎหมาย อันตรายจริง ๆ

นายฐากร อภิปรายต่อว่า นอกจากนี้ยังส่อว่าขัดพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 ที่ว่าการขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทำได้แต่เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น ซึ่งก็คือปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลต้องเบิกเงินให้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567นี้ มีข้อยกเว้นในวรรคที่ 2 กรณีที่ไม่สามารถเบิกเงินจากคลังได้ภายในปีงบประมาณให้ขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังได้ เฉพาะในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ และได้มีการกันเงินไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับการเบิกเงินจากคลังไปเรียบร้อยแล้ว

สรุปคือจะกระทำได้ต้องมี 2 เงื่อนไข คือ 1.หน่วยรับงบประมาณได้ก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว 2.ได้รับการกันเงินจากคลังแล้ว

“ไทม์ไลน์ของดิจิตอลเวอลเลตกรอบงบประมาณปี 2567 เริ่ม 1 ตุลาคม ปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 วันนี้รัฐบาลได้เสนองบเพิ่มเติมเข้ามาอีก 122,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่การก่อหนี้ผูกพันแต่ประการใด เพราะการก่อหนี้ผูกพันจะต้องมีการลงนามในสัญญาให้ทันภายในวันที่ 30 กันยายนเท่านั้น

ดังนั้น แค่การที่ประชาชนมาลงทะเบียนจึงไม่ใช่การก่อหนี้ผูกพัน งบประมาณดังกล่าวจะต้องตกไป” นายฐากรกล่าว พร้อมเสนอทางออกให้ดิจิตอลวอลเลตถ้าไม่ทันวันที่ 30 กันยายน 2567 สามารถทำได้คือ 1.ใช้เงินที่รัฐบาลกันไว้แล้วจากเงินงบกลางจำนวน 430,000 ล้านบาท 2.เงินจากงบเพิ่มเติมปี 2567 อีก 122,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลแจกเงินดังกล่าวผ่านแอปเป๋าตังค์หรือเป็นเงินสดให้ประชาชน จำนวน 16.5 ล้านคนในกลุ่มเปราะบางให้เสร็จก่อน 30 กันยายนนี้ จะทำให้เงินดังกล่าวสามารถใช้ได้ถูกต้องตามระเบียบ”