
พระสงฆ์เกือบ 3 แสนรูปได้สิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ฟังเสียงสะท้อนจากพระสงฆ์ที่ได้อานิสงส์รับสิทธิใช้จ่ายซื้อสินค้าในไตรมาส 4 ปีนี้
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เริ่มแล้วคลิกออฟ “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” ที่เปิดให้ประชาชน 45-50 ล้านคนผู้มีสิทธิลงทะเบียน แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการรับเงินหมื่น โดยมีกรอบระยะเวลา 45 วัน จากนั้นจะเป็นรอบคนไม่มีสมาร์ทโฟน ก่อนที่จะได้ใช้เงินกันจริง ๆ ช่วงไตรมาส 4
ทว่านอกจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับสิทธิ ยังมีกลุ่มนักบวช พระภิกษุสงฆ์ เกือบ 3 แสนรูป จาก 48,000 กว่าวัด (ข้อมูลพระสงฆ์ในประเทศไทย ช่วงปี 2565) ก็ได้อานิสงส์รับเงินหมื่นเช่นกัน
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับพระภิกษุสงฆ์ ถึงมุมมองต่อโครงการดังกล่าว หลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล สองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมใจยืนยันว่า “พระสงฆ์ ก็มีสิทธินะครับ”
เงินดิจิทัล 10,000 บาท สิทธิที่ “สงฆ์” ควรได้
พระวัดดังย่านดุสิตมองว่า การร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลตของกลุ่มพระสงฆ์ถือเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ที่ให้พระภิกษุ สามเณร อายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ได้รับสิทธิเหมือนประชาชนทั่วไป
“ทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าเรื่องการศึกษา การเดินทาง รักษาพยาบาล รัฐสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งในฝ่ายอาณาจักรคือรัฐบาล และฝ่ายพุทธจักรคือศาสนา ควรต้องไปด้วยกัน มันเป็นสิทธิไม่ควรตัด ไม่ว่าศาสนาใดในประเทศไทยควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน” พระวัดดังย่านดุสิต รูปแรก กล่าว
สวนทางกับพระสงฆ์อีกรูปแห่งวัดดังย่านจตุจักร ยืนกรานว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศ ณ ขณะนี้มีหนี้สินจำนวนมาก หากต้องดำเนินโครงการที่ใช้เงินกว่า 4.5-5 แสนล้านบาท จะทำให้เงินคงคลังของประเทศเหลือไม่มาก และหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนสมัยแพร่ระบาดโควิด-19 ก็จะไม่มีเงินเพียงพอในการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ ยังไม่เชื่อมั่นใจต่อตัวโครงการ เนื่องจากปัจจุบันรายละเอียดสินค้าที่ร่วมโครงการยังไม่มีความชัดเจน ก่อนที่จะยกตัวอย่างว่า สถานการณ์ของพระสงฆ์วันนี้ ส่วนใหญ่ชราภาพ มีอาการป่วยจำนวนมาก บางครั้งการรักษาต้องสั่งยาจากต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสามารถซื้อได้หรือไม่
นอกจากนี้ หากเป็นการใช้จ่ายสินค้า ทุกอย่างต้องเสียภาษี จึงมองว่าเป็นการสร้างภาระให้ประเทศเพิ่มขึ้น
ขอเงินสดใช้ง่าย-เพิ่มสินค้าร่วมโครงการ
สำหรับจำนวนร้านค้าที่แจ้งร่วมโครงการ เบื้องต้นมีประมาณ 2 ล้านราย ขณะที่สินค้าที่ซื้อได้ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อการเกษตร สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน ยารักษาโรค ธูปเทียนและเครื่องสักการะ เป็นต้น ส่วนที่ซื้อไม่ได้ ถูกกำหนดหลวม ๆ เช่น หวย ยาสูบ บัตรกำนัล เครื่องประดับ พลังงานเชื้อเพลิง เป็นต้น
พระวัดดังย่านดุสิตรูปสอง ยอมรับถึงความไม่มั่นใจต่อช่วงแรกของโครงการนี้ แม้ว่าวันนี้ 1 สิงหาคมเปิดให้ลงทะเบียน แต่ยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากขอรอศึกษารายละเอียดและความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเลตเพิ่มเติมก่อน เพราะจากการประเมินเบื้องต้นส่วนตัวคิดว่ามีข้อเสียมากกว่า พร้อมยกตัวอย่างเช่นเรื่องความชัดเจนร้านค้าร่วมโครงการ
ขณะที่การใช้จ่ายตอนแรกอยากนำไปชำระค่าเทอม แต่เมื่อรัฐบาลปรับรายละเอียดทำให้สินค้าและบริการหลายประเภทไม่ร่วมโครงการ จึงต้องขอพิจารณา
ด้านพระวัดดังย่านจตุจักรเสนอว่า “คุณ (รัฐบาล) แจกเงินสดเขาไปเถอะ คนรากหญ้าเพียงแค่ 3,000 บาทกับสถานการณ์ในวันนี้ก็ถือว่ามากแล้ว เขาจะเอาไปทำอะไรก็ช่าง ไม่ควรมีระบบให้มันยุ่งยาก เพราะตอนนี้เมื่อเข้าระบบเสร็จ ก็มีการกำหนดว่าซื้อนู่นซื้อนี่อะไรได้บ้าง แล้วมันจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร แบบนี้จะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือ”
ส่วนพระวัดดังย่านดุสิตรูปแรก เผยว่า หากได้รับเงินจะนำไปซื้อจีวร ผ้าสไบ สินค้าข้าวสารอาหารแห้งทั่วไป เพราะระเบียบไม่สามารถซื้อโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าได้
พระลุ้นคดีนายกฯ 14 ส.ค. ชี้เป็นชี้ตาย “ดิจิทัลวอลเลต”
สำหรับการลงทะเบียนผู้รับสิทธิร่วมโครงการดิจิทัลวอลเลต พระวัดดังย่านดุสิตรูปแรกเผยว่า ขณะนี้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะได้สิทธิหรือไม่แล้วแต่การพิจารณาของคณะกรรมการ แต่ยืนยันถึงอย่างไรทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน
ขณะที่พระวัดดังย่านจตุจักรบอกว่า จะยังไม่ลงทะเบียน ขอศึกษารายละเอียด รวมถึงติดตามความชัดเจนกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประเด็นการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ วันที่ 14 สิงหาคมนี้ ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่ เพราะเชื่อว่าจะมีผลต่อโครงการดิจิทัลวอลเลตอย่างแน่นอน