
ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 10 ปี เหตุว่ามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำนักข่าวต่าง ๆ รวมถึงสำนักข่าวจากต่างประเทศ เช่น บีบีซี (BBC) รอยเตอร์ (Reuters) ซีเอ็นเอ็น (CNN) ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ ซึ่งทางประชาชาติธุรกิจรวบรวมมุมมองของสำนักข่าวดังกล่าว ที่มีต่อประเด็นทางการเมืองมาไว้ดังนี้
พรรคชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ถูกยุบ
รอยเตอร์รายงานว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของประชาธิปไตยไทย รวมถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอย่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองที่มาแรงที่สุดในปัจจุบัน และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
รอยเตอร์ระบุอีกว่า พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีที่นั่งในสภาถึง 151 ที่นั่ง แม้จะชนะอย่างเด็ดขาด แต่พรรคก้าวไกลกลับถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลในสภา จนในที่สุด พรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับสองได้แยกออกมาจัดตั้งรัฐบาลเอง
การยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ นับเป็นการพรากสิทธิเลือกตั้งทั้ง 14 ล้านเสียง
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การตัดสินยุบพรรคก้าวไกลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทยจะส่งผลร้ายแรงครั้งใหญ่ต่อความเคลื่อนไหวของฝ่ายก้าวหน้า
องค์กรที่อ้างว่าเป็นอิสระ
บีบีซีรายงานว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร มีส่วนสำคัญในการกีดกันไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้กฎหมายอาญาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112
รวมทั้งองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ก.ก.ต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ที่มีอิทธิพลเหนือรัฐสภา และเป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นฟ้องต่อศาลให้ยุบพรรคก้าวไกล
กลุ่มอนุรักษนิยมพยายามรักษาอำนาจเดิม
บีบีซีรายงานว่ากลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่พระราชวัง กลุ่มทหารที่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ผู้พิพากษาอาวุโส เจ้าสัว กลุ่มกองทัพและตำรวจ ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์ในการรักษาสถานะเดิม (status quo)
ซีเอ็นเอ็นระบุว่าการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีใครสามารถเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การพูดถึงราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมา สามารถทำให้ติดคุกได้ และมีนักกิจกรรมหลายคนที่ต้องติดคุก ลี้ภัย หรือต่อสู้กับคดีอาญา จากความผิดมาตรานี้
นโยบายและผลกระทบที่ละมุนละม่อมแล้ว
อย่างไรก็ตาม บีบีซีมองว่านโยบายแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของก้าวไกลถือว่าละมุนละม่อมมากแล้ว กระนั้นก็ยังถูกตัดสินว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงจนถูกตัดสินยุบพรรค
รอยเตอร์มองว่า ผลกระทบที่ก้าวไกลได้รับถือว่าเล็กน้อย เนื่องจากสมาชิกสภาที่เหลืออีก 144 คนยังสามารถมีที่นั่งเช่นเดิม หากหาพรรคใหม่ได้อย่างที่เคยทำตอนยุบพรรคอนาคตใหม่