สุริยะ รับไอเดีย ทักษิณ จ่อตั้งกองทุนฯเวนคืนรถไฟฟ้า ที่เอกชนบริหารกลับสู่รัฐ ดันค่าโดยสาร 20 บาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

สุริยะ เล็งศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ควักงบเวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน หวังปรับราคาค่าโดยสาร สนองนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท พร้อมสั่ง สนข.เร่งศึกษาเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมืองแก้รถติด หลัง ทักษิณ แนะ

วันที่ 23 สิงหาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการเวนคืนโครงการรถไฟฟ้า ที่อยู่ในการบริหารของเอกชนในปัจจุบัน กลับมาให้รัฐบาลบริหาร เพื่อผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า เรื่องนี้จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำเงินไปเวนคืนรถไฟฟ้าของเอกชนที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งทางกระทรวงการคลัง จะต้องไปศึกษารายละเอียด ส่วนแหล่งเงินในกองทุนนี้ ก็จะมาจากกระทรวงการคลัง

“การเวนคืนรถไฟฟ้าเอกชนมาบริหาร แนวทางคือ ต้องตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้ากลับมาจากเอกชน โดยไม่ต้องรอหมดสัญญา ส่วนที่มาแหล่งเงินจะมาจากกระทรวงการคลัง และจะเป็นคนละกองทุนกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่จะมาชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า“

นอกจากนี้ กระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ  Congestion charge ซึ่งจะจัดเก็บส่วนของรถที่จะเข้ามาในพื้นที่ที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์ และมีการจราจรติดขัด อาทิ รัชดาภิเษก พารากอน และสุขุมวิท

โดยมาตรการนี้หลายประเทศดำเนินการแล้ว เช่น ลอนดอน เมื่อพื้นที่ใดมีระบบรถไฟฟ้าเดินทางสะดวกแล้ว ถ้ารถจะเข้าไปช่วงนั้นก็ต้องเก็บค่าธรรมเนียม ขณะที่กรุงเทพฯ ตอนนี้รถไฟฟ้าหลายสายกลางเมืองก็ครบแล้ว ดังนั้นต้องเริ่มศึกษามาตรการนี้ ว่าจะเริ่มทำตรงไหน เก็บค่าธรรมเนียมเท่าไหร่

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กรณีที่ นายทักษิณ กล่าวถึงแนวทางขยายสนามบินภูมิภาค เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ตอนนี้กระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมโอนย้ายสนามบินภูมิภาค ที่อยู่ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.บริหาร ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อทางอากาศสะดวก

Advertisment

โดยระยะแรก จะมีการโอนจำนวน 3 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนขอใบรับรองสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนระยะยาวกระทรวงมีแผนจะโอนสิทธิบริหารทั้ง 29 สนามบินมายัง ทอท. คาดว่าจะดำเนินการ 10 ปีแล้วเสร็จ