รัฐบาลอิ๊งค์ กุม 317 เสียง ปิดสวิตช์บิ๊กป้อม ประชาธิปัตย์พรรคแตก

ครม.อิ๊งค์
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พรรคเพื่อไทยเดินเกม “ปิดสวิตช์” พรรคพลังประชารัฐ ปิดเกม “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ไปเป็นฝ่ายค้าน

ในนาทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ ดึงกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแทนที่

ตัวเลขในมือพรรคร่วมรัฐบาลยังแกว่งอยู่เล็กน้อย แต่พรรคเพื่อไทยพยายามยันไว้ให้อยู่ที่ 314 เสียงเท่าเดิมเป็น “เกณฑ์ขั้นต่ำ”

แต่จะมากเท่าไหร่ขึ้นอยู่บรรทัดสุดท้ายของกลุ่ม สส.ของ ร.อ.ธรรมนัส

317 เสียง คือตัวเลขที่นับได้ยังไม่เป็นทางการ ประกอบด้วย 1.เพื่อไทย 141 เสียง 2.ภูมิใจไทย 70 เสียง 3.ประชาธิปัตย์ 21 เสียง 4.รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง 5.ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 6.พรรคประชาชาติ 9 เสียง 7.พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง 8.พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง

9.พรรคใหม่ 1 เสียง 10.พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง 11.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 12.พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง 13.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 14.กลุ่มธรรมนัส 14-20 เสียง รวม 317 เสียง

Advertisment

โดยเฉพาะกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส นำตัวเลข 14-20 เสียงในมือ และ สส.พรรคเล็ก 1 เสียง อีก 5 พรรค ไปมัดจำกับพรรคเพื่อไทย แม้ตัวตนยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐก็ตาม การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงลงตัวที่สูตร 9 สส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี

โดยกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสได้ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี+1 โควตาเพื่อไทย โดยสละเก้าอี้รองนายกฯ

Advertisment

คาดการณ์ว่ารัฐมนตรี 3 คน คือ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในนามพรรคกล้าธรรม อัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในโควตาเพื่อไทย และ อิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในโควตาพรรคกล้าธรรม

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค แย้มว่าพรรคได้ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี คาดว่าจะเป็นเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอาจเปลี่ยนเป็นชัยชนะ เดชเดโช แทน และเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข

ครม.อิ๊งค์

เรื่องเล่าประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามาร่วมรัฐบาลในวันนี้ ค่อนข้างชัดแล้วว่าจะนำ สส. 21 คนเข้าร่วมรัฐบาล โดยมีเก้าอี้ 2 รัฐมนตรีอยู่ในเงื่อนไขนั้น

จุดเริ่มต้นย้อนไปตอนวันโหวต “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ เมื่อ 22 สิงหาคม 2566 เวลานั้นพรรคเพื่อไทยปิดดีลข้ามขั้ว 11 พรรค 314 เสียง ลงตัว

แต่ยังต้องใช้เสียงของ สว.มาร่วมโหวตด้วย เพื่อให้เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา คือ 375 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 474 คน

ซึ่งในตอนนั้นพรรคเพื่อไทยต้องใช้เสียง สว.จาก 2 สาย ที่ว่ากันว่าเป็นสายของ 2 ลุง ฝ่ายหนึ่งลุงตู่ ฝ่ายหนึ่งลุงป้อม

1 ชั่วโมงก่อนเปิดประชุมพรรคเพื่อไทย เช็กเสียงรอบสุดท้าย ปรากฏว่า สว.ฝ่ายที่ยังแกว่ง คือ สาย สว.ลุงป้อม พรรคเพื่อไทยจึงหาเสียงสำรองไว้ป้องกันอุบัติเหตุ

ในท้ายที่สุด เศรษฐาได้เป็นนายกฯคนที่ 30 ด้วยเสียง 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียงจาก 705 คน โดยมี 16 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมโหวต ผ่านมา 1 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ขั้วข้างที่โหวตให้นายกฯเศรษฐา วันนี้ได้รับเชิญร่วมรัฐบาล

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทยที่มีอยู่ 6 เสียง เทคะแนนให้กับ “นายกฯอิ๊งค์” ในการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 16 สิงหาคม 2567 กลายเป็นพรรคอะไหล่-เสียงสำรองให้กับพรรคเพื่อไทย เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

รับศึกฝ่ายค้าน

เพราะ 317 เสียง ที่มีตุนไว้ในกระเป๋า ยังไม่รวมเสียงของพรรคไทยสร้างไทย อีก 6 เสียง พรรคเพื่อไทยต้องการให้แน่ใจว่าจะสามารถเอาชนะในสภาได้ตลอดรอดฝั่ง

โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจากเดิมหากนายกฯเศรษฐาไม่ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง คาดการณ์ว่าพรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเดือนกันยายน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ทำงาน

ทั้งนี้ สมัยประชุมต่อไปจะเริ่มตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึง 10 เมษายน 2568 ดังนั้น จำนวนเสียงในสภาจึงต้องให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย มีทั้งเสียงหลัก-เสียงสำรอง

รวมถึงการโหวตกฎหมายขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการ Entertainment Complex ต้องใช้เสียงโหวตในสภาทั้งสิ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง สว.สายสีน้ำเงินคุมเสียงในสภาสูง (สว.) สามารถวีโตกฎหมายต่าง ๆ ได้ เสียงในสภาล่าง (สส.) จำเป็นจะต้องรวบรวมให้เยอะไว้ก่อน

“แม้พรรคเพื่อไทยไม่มีพรรคพลังประชารัฐ แต่ดูจำนวนเสียงแล้วค่อนข้างปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ” แหล่งข่าวกล่าว

ควบรวมพรรค ถึงสลายขั้ว

ทวนเข็มนาฬิกากลับไปเพื่อดูสไตล์การบริหารงานรัฐบาลไทยรักไทย ตอนเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ลงเลือกตั้งครั้งแรกและสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้

โดยพรรคไทยรักไทยมี สส. 248 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับสอง มี สส. 128 คน ทั้งนี้ พรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นรัฐบาลผสม 3 พรรค โดยมีพรรคชาติไทย ที่มี สส. 41 คน กับพรรคความหวังใหม่ มี สส. 36 คน เข้าร่วมรัฐบาล 325 เสียง

หลังจากนั้นพรรคไทยรักไทย ได้ควบรวมกับพรรคเสรีธรรม 14 เสียง กลายเป็นพรรค 262 เสียง และทำให้รัฐบาลมีเสียงรวมกัน 339 เสียง

และต่อมาพรรคไทยรักไทยได้ดึงพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีอยู่ 36 คนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน

ถัดจากนั้น 30 มิถุนายน 2547 พรรคชาติพัฒนา 29 เสียง ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นหัวหน้าพรรค ถูกดึงเข้าร่วมรัฐบาลไทยรักไทย กลายเป็นพรรคทะลุ 300 เสียง

ส่งผลให้การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้ สส.สูงสุดถึง 377 เสียง

18 ปีต่อมา พรรคเพื่อไทย พรรคอันดับสองในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 แต่ได้จัดตั้งรัฐบาล คราวนี้เป็นการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จับมือทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งรัฐบาล 14 พรรค 314 เสียง

ผ่านมาปีกว่า นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง คนในเพื่อไทยสงสัยว่าเป็นฝีมือของคนคุ้นเคย

เมื่อบ้านป่าของพรรคพลังประชารัฐเกิดแตกหักภายใน ระหว่างกลุ่มการเมืองฝ่าย พล.อ.ประวิตร กับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส เพื่อไทย จึงดึงกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่มี 14-20 เสียงร่วมรัฐบาล และดึงพรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียงเข้ามาเสียบล้างความขัดแย้งที่นานกว่า 2 ทศวรรษ

แต่พรรคประชาธิปัตย์ แตกละเอียด