เงินดิจิทัล 10,000 ส่อใช้โครงใหม่-เปลี่ยนรูปแบบจ่ายเงินสด ป้องกันนักร้อง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์แย้มดิจิทัล 10,000 เล็งใช้โครงใหม่-เปลี่ยนรูปแบบจ่ายเป็นเงินสด-ชี้เพื่อให้รัฐบาลแพทองธารปลอดภัย ป้องกันเจอนักร้อง-อุบรอฟังชัด ๆ แถลงนโยบายกลาง ก.ย.

วันที่ 4 กันยายน 2517 ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาพรวมประชุม สส.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวาระ 2 และวาระ 3 วันแรกว่า เป็นไปอย่างราบรื่น เดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในช่วงเช้ามีการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย ก็คาดว่าจะเดินหน้าได้ 13 ถึง 14 มาตรา และจบในเวลา 4 ทุ่มเมื่อคืนนี้

ส่วนการลงมติก็ผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี ขณะที่การอภิปรายในสภา เป็นการหยิบยกเอาประเด็นข้อสงสัย ข้อห่วงใย และมีการถามตอบชี้แจงได้ครบถ้วนในแต่ละประเด็น ซึ่งภาพรวมเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อถามว่า เรื่องนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทสามารถชี้แจงให้ความมั่นใจแก่ฝ่ายค้านได้มากน้อยแค่ไหน นายจุลพันธ์กล่าวว่า เราสามารถยืนยันได้ว่า นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าจะเดินหน้าโครงการดิจิทัล 10,000 บาท

แต่แน่นอนว่ารูปแบบอาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการแถลงนโยบาย แม้ว่าตนเองจะพอรับทราบโครงสร้างใหม่มาแล้วบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจน ต้องรอให้กระบวนการครบถ้วนก่อน ซึ่งคาดว่าประมาณ 10 วันน่าจะรู้เรื่อง

ทั้งนี้ ช่วงราว 15-17 ก.ย. คาดว่าจะมีการแถลงนโยบาย ซึ่งหากเป็นไปตามกรอบเวลาก็จะทราบว่าโครงสร้างของโครงการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง

Advertisment

อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้มีการเตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นงบฯกลางปี’67 จำนวน 1.22 แสนล้าน และงบฯ 68 ที่กำลังพิจารณาอยู่ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเติมเงินให้กับประชาชนได้อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า เรื่องการจ่ายเงินสดเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากกลัวว่าการจ่ายเงินสดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่กระจายลงฐานรากอย่างแท้จริง นายจุลพันธ์ยอมรับว่ามีหลายมุมมอง เพราะลักษณะการดำเนินนโยบายสาธารณะมีมุมมองที่แตกต่าง และในวันที่เราจะทำในรูปแบบดิจิทัล 100% ก็มีข้อท้วงติงบอกว่าให้ไปดูกลุ่มเปราะบาง และทางวุฒิสภา (สว.) ก็เห็นร้องห่มร้องไห้ให้แจกเป็นเงินสด

Advertisment

ซึ่งต้องยอมรับว่าได้ยินมาจริง ๆ จากตัวแทนของประชาชน ซึ่งทางเราก็รับฟัง และตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา มาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ก็เชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนและทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายค้านและภาคราชการ ซึ่งเมื่อมีเสียงสะท้อนมาเราก็รับฟัง

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าควรเป็นแบบไหนเพื่อให้การใช้จ่ายง่ายขึ้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนยังไม่อยากตอบ อยากให้รอฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล แต่สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนประเด็นแรก กลไกการเดินหน้ารัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเต็มไปด้วยนักร้อง เมื่อมีการร้องเข้ามาแล้วก็มีการสะดุดติดขัด ไม่ใช่แต่เพียงรัฐบาลเท่านั้น แต่กระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง

ซึ่งเมื่อมีเรื่องร้องเข้ามา และคาอยู่เป็นปี ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นต่อการบริโภค การลงทุน การเดินหน้าชีวิตให้สะดุดติดขัดไป ซึ่งวันนี้มองว่า อะไรที่เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ตนมองว่ารัฐบาลแพทองธารต้องปรับให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่สอง มีข้อสังเกตและข้อห่วงใยจากหน่วยงานของรัฐ และจากประชาชนฝ่ายค้านในเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางจุดเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยเร็ว กระตุ้นเศรษฐกิจในการเป็นเม็ดเงินให้กับประชาชน ซึ่งเราก็รับฟังมา และยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนเป็นเงินสดมีความเป็นไปได้ในบางส่วน แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้มีการพิจารณาร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งวันนี้ก็ได้รับหนังสือจากพรรคภูมิใจไทย แล้วจะต้องนำทั้งหมดมารวมกัน คลุกรวมกัน เพื่อให้เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่ทุกคนยอมรับกันได้

เมื่อถามว่าประชาชนที่ลงทะเบียนไปแล้วจะทำอย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังเดินหน้าต่อ ตนไม่ได้หมายความว่าไม่มีโครงการที่เป็นในลักษณะของดิจิทัลวอลเลต เราต้องมาดูรายละเอียดกัน แต่เรื่องการทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเลตยังมีอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่ทราบกันมาตลอด คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทย เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เราไม่อาจละเลยได้ ยังอยู่ในวัตถุประสงค์อยู่ แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับที่น่าพึงพอใจในระดับที่ยอมรับได้ เรื่องนั้นต่างหากที่เป็นคำตอบ

เมื่อถามว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบจะมีผลต่อแรงส่งต่อพายุหมุนที่ตั้งไว้ นายจุลพันธ์กล่าวว่าแน่นอนครับ การปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม ก็มีทั้งในแง่บวกและแง่ลบในตัวของมันเอง เราต้องหาจุดสมดุลที่มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ ทำอย่างไรให้ได้ทุกอย่างในระดับที่ยอมรับได้