ทำความรู้จักนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลแพทองธาร 1
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2504 ปัจุบันอายุ 63 ปี คู่สมรสคือ นางธัญยธรณ์ นริพทะพันธุ์
จบการศึกษา
บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เศรษฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พ.ศ. 2566 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
พ.ศ. 2564 รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย
พ.ศ. 2563 รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2554 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
ประวัติส่วนตัว-เป้าหมายทำงาน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ วัย 63 ปี ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31
เส้นทางการเมืองเริ่มต้นจากเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และอัญมณี ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัว และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ด้วยเส้นทางและประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และล่าสุดตำแหน่งรองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรค ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ได้รับพิจารณาให้ดูแลในตำแหน่งล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พร้อมกันนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ จะสานต่อนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย โดยมีทั้งหมด 7 นโยบายสำคัญ ได้แก่
1.นโยบายลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เพิ่มทางเลือกในการบริโภค และการกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะ เพื่อให้เกิดอาชีพและรายได้ ขยายโอกาสเพิ่มช่องทางการค้าใหม่ ๆ
2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างประชาชน ผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ให้ทุกฝ่ายสามารถดำรงชีวิต ดำเนินธุรกิจไปได้ สร้างผลประโยชน์ที่ได้รับด้วยกันทุกฝ่าย โดยจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยแก้ปัญหาเชิงรุก รวมถึงจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาเป็นธรรม ส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้และขีดความสามารถด้านการตลาด
3.การทำงานเชิงรุกและบูรณาการทำงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ พร้อมวางแผนยุทธศาสตร์ หรือการบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจร เพิ่มบทบาทพาณิชย์คู่คิด SMEs ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้
4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเลต ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อมโยงข้อมูลช่องทางการตลาด และส่งเสริมร้านค้าอำนวยความสะดวกการเข้าถึงของประชาชน
6.เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก สร้างกระแสโดยการใช้ประโยชน์จาก Soft Power แก้ไขปรับปรุงพัฒนาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการค้าชายแดนและข้ามแดน ผลักดันการสร้างระบบนิเวศและยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย
7.เร่งเจรจาเขตการค้าเสรีให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เทียบเท่าประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม รวมถึงมุ่งผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก FTA การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในประเทศ นำผลการเจรจามาสื่อสารทำความเข้าใจ
อย่างไรก็ดี ยังต้องเผชิญความคาดหวังสูงในการกระตุ้นและการลงทุน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ความสำเร็จในบทบาทนี้จะไม่เพียงส่งผลต่ออนาคตทางการเมือง แต่ยังมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวมอีกด้วย