
รัฐบาลเพื่อไทย ในการนำของแพทองธาร ชินวัตร รับไม้ต่อจากเศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเรือธง เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับพรรคประชาชน แกนนำฝ่ายค้าน ที่มีการรับไม้ต่อจากหัวหน้าพรรคคนก่อน แต่บุคคลที่ทำงานด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องตั้งแต่ต้นรัฐบาลเพื่อไทย จนถึงปัจจุบัน มีแนวรุกไม่เปลี่ยนแปลง คือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค
ก่อนการแถลงนโยบายจะเริ่มขึ้น “ศิริกัญญา” วิเคราะห์ล่วงหน้า ผ่า 9 กระทรวงเศรษฐกิจ ที่กุมทิศทางนโยบายเรือธง ทั้งค่าแรง 400 บาท แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และมาตรการเศรษฐกิจที่แนะแนวจากนายทักษิณ ชินวัตร
รัฐบาลไม่มีเวลาฮันนีมูน
“ไม่ว้าวเลย” คือคำพูดศิริกัญญา เมื่อเห็นโฉมหน้า ครม.แพทองธาร หลังประกาศแต่งตั้ง เธอประเมินว่าส่วนใหญ่เป็นการเขย่ารวมกันของคนเพื่อไทย ทำให้มีรัฐมนตรีหน้าใหม่น้อย มองไม่เห็นผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้าน นอกจากชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นักวิชาการสายตรงกฎหมาย ที่ช่วยอดีตนายกฯทักษิณตั้งแต่พรรคไทยรักไทย
ส่วนนายกฯแพทองธาร แม่ทัพทีมเศรษฐกิจ พรรคสีส้มวิเคราะห์ว่า จากการเป็นแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เมื่อมาดำรงตำแหน่งผู้นำ อาจช่วยให้คะแนนนิยมเพื่อไทยดีขึ้น
การทำงานของเพื่อไทย หลังจากนี้เชื่อว่าสไตล์นายกฯ ที่มีแคแร็กเตอร์สดใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ กล้าหาญในการตัดสินใจ จะนำแนวคิดใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ใน ครม. หากเปรียบกับอดีตนายกฯเศรษฐา การทำงานเน้นไปทางซีอีโอ รวดเร็ว มุ่งประสิทธิภาพ สั่งการตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อการทำงานของนายกฯเพื่อไทย 2 คน 2 สไตล์ จึงต้องรอติดตามการบริหารจากนี้
สำหรับไพ่ไม้ตายของนายกรัฐมนตรี “ศิริกัญญา” ประเมินว่า “นายกฯอยู่แวดวงการเมืองมาตลอดตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ทำให้ซึมซับวิธีทำงาน คอนเน็กชั่น ฉะนั้นการทำงานอาจจะไม่ยาก”
“นายกรัฐมนตรีต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนมองข้ามความเป็นลูกสาวอดีตนายกฯทักษิณ โฟกัสเพียงความสามารถ และเปล่งแสงความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลา”
ศิริกัญญาประกาศว่าการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลจากนี้ หลังทำงานมา 1 ปี ครม.เพื่อไทยชุดปัจจุบันหน้าตาเดิม ๆ จากนี้ตรงไหนเป็นประเด็นก็ต้องสะท้อนให้ทราบ และหวังว่ารัฐบาลแพทองธาร จะรับฟังปัญหาจากฝ่ายค้านเหมือนสมัยรัฐบาลเศรษฐา
“1 ปีคุณ (รัฐบาลเพื่อไทย) ใช้ช่วงฮันนีมูนเรียนรู้ทดลองงานหมดแล้ว สำหรับคุณแพทองธาร เข้ามาวันที่หนึ่งคือการทำงานแบบพนักงาน Full Time ฉะนั้นการตรวจสอบจะเข้มข้นตั้งแต่เดย์วัน การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเริ่มนับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่ไปไหน”
ศิริกัญญาเฉลยโจทย์ในการตรวจสอบรัฐบาลว่าจะทำตามปกติ ในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบาทนายกฯ พรรคประชาชนอยากเห็น ภาวะผู้นำที่เป็นผู้ริเริ่มไอเดียแนวคิดวิสัยทัศน์ต่าง ๆ แจกจ่ายให้รัฐมนตรี ตามงานนโยบายให้เกิด เพื่อทำให้ประชาชนเห็นแคแร็กเตอร์ผู้นำกล้าตัดสินใจ รอบรู้ บังคับบัญชาข้าราชการทั้งประเทศ
“นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ยินดีต้อนรับสู่แวดวงการเมืองเต็มตัว หลังจากอยู่รอบนอกมาตลอด อยู่ตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหาร ขอเป็นกำลังใจสำหรับบทบาทใหม่ แต่เรา (พรรคประชาชน) ฐานะฝ่ายค้าน ไม่ออมมือแน่นอน เดินหน้าตรวจสอบเข้มข้น ไม่ว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การขับเคลื่อนนโยบายที่แถลง รวมถึงการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่น ทุกอย่างจะเกิดขึ้นในรัฐบาลคุณแพทองธาร”
วิเคราะห์ 4 รัฐมนตรีใหม่ทีมเศรษฐกิจ
โฉมหน้ารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อย่างน้อยมี 4 กระทรวง ที่เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ อาทิ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม, สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเกษตรฯ นำโดยนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการ และ 2 รมช. อิทธิ ศิริลัทธยากร และอัครา พรหมเผ่า
ศิริกัญญาประเมินกระทรวงเกษตรฯว่า “ดร.นฤมล หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ที่ผ่านมามักเห็นบทบาทการเป็นอาจารย์ สมัยเป็น รมช.แรงงาน ผลงานก็ไม่ค่อยเด่นชัด จนมารัฐบาลเศรษฐา เหมาะกับบทบาทผู้แทนการค้า คอยเจรจา แต่การมาเป็น รมว.เกษตรฯ เชื่อว่าประชาชนอยากเห็นภาพการทำงานสไตล์ลุย ๆ มีความรู้เรื่องเกษตร ชลประทาน เหมือน ร.อ.ธรรมนัส
ฉะนั้นมองว่าจะเป็นโจทย์ยากของนฤมล เนื่องด้วยขณะนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม คงลุ้นเหนื่อย แต่ถึงอย่างไรควรให้โอกาสทำงาน พร้อมเชื่อว่ามีโค้ชดีอย่าง ร.อ.ธรรมนัส ส่วนการจัดทีมให้ รมช.อัครา รมช.อิทธิ มาช่วงงานอาจทำให้ถูกมองเป็นภาพเครือญาติ”
กระทรวงพาณิชย์ยุคนายพิชัย “ประเมินว่าทิศทางการบริหารน่าจะดีขึ้น เนื่องจากก่อนหน้าบทบาทรองนายกฯภูมิธรรม ส่วนใหญ่เด่นทางการเมือง มากกว่าบทเซลส์แมนตามภารกิจพาณิชย์ เห็นจากนั่งหัวโต๊ะประธานแก้รัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ
ยุค รมต.พิชัย ที่เคยนั่งคุม 2 กระทรวงเศรษฐกิจ คิดว่ามีองค์ความรู้เหมาะสมกับงาน แต่ขณะนี้พาณิชย์มีโจทย์ให้แก้หลายเรื่อง ทั้งการควบคุมการเข้ามาของสินค้าจีนโดยเฉพาะทางออนไลน์ รวมถึงดูแลราคาสินค้าให้คงระดับดีเหมือนที่ผ่านมา”
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แค่เริ่มต้นวิเคราะห์ ศิริกัญญาก็อุทานว่า “โอ้โห” รู้สึกเห็นใจข้าราชการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เนื่องจาก 1 ปี เปลี่ยนเจ้ากระทรวง 3 คน (1.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล 2.เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช มาถึงสรวงศ์) ทำให้เกิดข้อกังวลเนื้องานอาจไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้นายสรวงศ์เป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯคนสุดท้ายของรัฐบาลยุคนี้
“เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ฝากความหวัง เพราะการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังทำงานได้ดี แม้สภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ฉะนั้นโจทย์หลักต้องทำให้การท่องเที่ยวไทย กลับมาเข้มแข็งมีรายได้อย่างยั่งยืน”
กระทรวงอุตสาหกรรม ศิริกัญญาชี้ว่า โจทย์ประเทศที่ผ่านมาประสบปัญหากากอุตสาหกรรมจำนวนมาก ฉะนั้น รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ ควรดูแลให้เข้มงวดขึ้น นี่จึงเป็นโจทย์นอกเหนือจากมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงควรหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มาทดแทนเทคโนโลยีเดิม ๆ ให้เข้ากับยุคเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม เพราะหากพัฒนาประเด็นนี้ได้เชื่อว่าไทยจะหลุดพ้นจากกับดักการเติบโต
เจาะลึกรัฐมนตรีเก่า 5 กระทรวง
รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่ได้ทำงานต่อเนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลฯ ควบรองนายกฯ, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน
“ศิริกัญญา” วิเคราะห์รายกระทรวงพอสังเขป ดังนี้
กระทรวงพลังงาน “มองว่า 1 ปีการบริหารของพีระพันธุ์ พยายามสางปัญหาหลายเรื่อง ทั้งปรับปรุงโครงสร้างราคาไฟฟ้าของก๊าซธรรมชาติที่สำเร็จยุคนี้ แต่ยังไม่ทำให้ค่าไฟลดลงมากพอ เนื่องจากมีหนี้ที่ต้องชำระอยู่อีกมาก ฉะนั้นต้องกระทุ้งให้ทำงานเข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟ ค่าน้ำมัน จึงให้คะแนน 5 เต็ม 10 เพราะหลายเรื่องยังไม่สำเร็จ”
กระทรวงดิจิทัลฯ “การปั้นผลงานที่ผ่านมายากลำบาก โดยเฉพาะเจอปัญหาคอลเซ็นเตอร์สแกมเมอร์ภัยออนไลน์ต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอำนาจของรัฐมนตรีดีอีเพียงคนเดียว ฉะนั้นต้องรอดูการทำงานจากนี้”
กระทรวงการต่างประเทศ “หากเทียบกับออร่าปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีต รมว.ต่างประเทศที่สว่างจ้ากว่านายมาริษ เนื่องจากนโยบายเน้นเจรจาการค้าเศรษฐกิจ แต่รัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นอดีตเอกอัครราชทูต การทำงานจึงเน้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากให้เน้นนโยบายการค้าต่างประเทศ โดยเสริมเครื่องมืองบประมาณให้ทูตต่างประเทศมีเพียงพอ เพื่อช่วยทำการค้า”
กระทรวงแรงงาน “นโยบายต่าง ๆ ไม่มาตามนัด ทั้งค่าแรง 400 ทั่วประเทศ เข้าใจว่าน่าจะไม่มาแล้ว จากการที่หน่วยงานชี้แจงในกรรมาธิการ (กมธ.) ยอมรับว่าไม่น่าสำเร็จ แต่อย่างไรต้องลุ้นจะสำเร็จช่วงเดือนตุลาคม ตามที่ประกาศหรือไม่ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ที่ผ่านมาพัฒนาแต่ทักษะเดิม ๆ เช่น ช่างเชื่อม จึงคิดว่าหากไม่มีโครงการพัฒนาทักษะแรงงานขนานใหญ่ ประเทศไทยจะตกขบวน”
“ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจีนผิดกฎหมาย โดยเฉพาะจังหวัดแถบเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไม่เห็นหน่วยงานเดือดร้อนมีมาตรการป้องกันปราบปรามจริงจัง”
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชน ประเมินภาพรวมว่าการทำงานของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 1 ปี ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ให้คะแนน 6.5 เต็ม 10 เนื่องจากมองว่าสมาธิ งบประมาณส่วนใหญ่ระดมไปให้โครงการดิจิทัลวอลเลตมากเกินไป จึงไม่เห็นผลงานอื่น ๆ ชัดเจนมากนัก เพราะนโยบายเศรษฐกิจเคยเป็นซิกเนเจอร์รัฐบาลเพื่อไทย
แจกเงิน 10,000 ลูกผีหรือลูกคน
1 ในนโยบายเรือธง ตั้งแต่วันแรกของรัฐบาลเศรษฐา ต่อเนื่องถึงรัฐบาลแพทองธาร คือโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท “ศิริกัญญา” เกาะติดโครงการนี้ตั้งแต่วันแรกเช่นกัน ประเมินว่า “ตอนนี้ยังลูกผีลูกคน เพราะที่ผ่านมามัวเฝ้ารอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาบริหาร และการเปลี่ยนเป็นให้เงินสดอาจทำให้ผลพวงจากพายุหมุนทางเศรษฐกิจลดน้อยลง คงไม่สามารถเรียกว่าโครงการดิจิทัลได้อีก ฉะนั้นขอแนะนำหากจะเดินหน้าควรเร่งคิดให้จบและประกาศให้ชัด หรือยุติก็ควรรีบแจ้งประชาชน แต่ถึงอย่างไรแม้สำเร็จ แต่เชื่อคงทำให้คะแนนความนิยมพรรคเพื่อไทยทรง ๆ แต่ถ้าไม่ได้จะเป็นเรื่องใหญ่คะแนนลบแน่นอน”
“รัฐบาลควรสร้างความชัดเจนให้เร็ว ถ้าโครงการดิจิทัลวอลเลตอยู่ การแถลงนโยบายก็ควรชัดเจนเลย”
รัฐบาลแพทองธารอาจไม่มหัศจรรย์เท่าทักษิณ
อายุรัฐบาลเหลืออีก 3 ปี นับจากนี้ “ศิริกัญญา” มองว่าเป็นความท้าทาย เพราะโจทย์เศรษฐกิจตอนนี้ไม่เหมือนยุครัฐบาลทักษิณ 20 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงฟื้นตัว ขาขึ้นหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานเคยเติบโตสูง หากเปรียบกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเสมือนเดินข้ามเขาลูกใหญ่ อดีตนายกฯทักษิณ แม้มีผลงานโดดเด่น แต่ไม่น่าใช้ความอัศจรรย์แบบเดิมทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีได้ง่าย ๆ”
“เส้นทางนี้ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เต็มไปด้วยอุปสรรค และเกิดจากการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ทุกก้าวมีแต่ความเจ็บปวด ฉะนั้นต้องกัดฟัน มันอาจไม่ใช่ 3 ปีก็ได้ที่เราต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่” ศิริกัญญาทิ้งท้าย