
ภาคเอกชนพอใจเห็นความพร้อมทีมเศรษฐกิจ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประธานสมาคมธนาคารไทย เชื่อรัฐบาลมีเอกภาพเร่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ โดยมีความหวังที่เป็นบวกมากขึ้น หอการค้าหนุนเร่งออกดิจิทัลวอลเลตให้ได้ก่อน เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการ ด้านประธานเอสซีบี หวังกระตุ้นทั้งระยะสั้น-ยาว และใช้งบฯค้างท่อปี 2567 เร็วที่สุด ส่วนบิ๊กมาม่า มองตั้ง ครม.เร็วสานต่อนโยบายเดิมได้ดี สภาอุตฯเชื่อมั่นรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หวังดันไทยเป็นฮับรถยนต์สันดาป
หลังจากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดทีม ครม.แล้วเสร็จ คณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งคณะเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 จากนั้นวันเสาร์ที่ 7 กันยายน ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภา และกำหนดแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาวันที่ 12-13 กันยายน
และวันจันทร์ที่ 16 กันยายน นายกรัฐมนตรีจะเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นถึงภาพรวมการตั้ง ครม.ได้รวดเร็ว พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
หอการค้าให้เร่ง “ดิจิทัลวอลเลต”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่คณะรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยก่อน โดยดำเนินตามนโยบายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แจกจ่ายให้ได้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ตลอดจนการดูแลค่าครองชีพ การจัดการปัญหาเรื่องน้ำก็สำคัญ ขณะเดียวกันจะต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2567 ให้ครบถ้วน และต่อเนื่อง
“ตอนนี้ในตลาดไม่มีเงินหมุนเวียนเลย ถ้ามีเงินอัดฉีดเข้าไปจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างมาก หากยังมีเงินเหลือและต้องการจะแจกให้ครบถ้วนในกลุ่มอื่น ๆ นั้นก็ต้องรอรัฐบาลแถลง พูดไปตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์” นายสนั่นกล่าว
กกร.ชงนโยบายเสนอรัฐ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ถือว่ามีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รวดเร็ว แม้ว่าจะมีหลายพรรคแต่ถือว่ามีความเป็นเอกภาพ ซึ่งสามารถเร่งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้ โดยก็มีความหวังที่เป็นบวกมากขึ้น
โดยนโยบายและข้อเสนอต่อรัฐบาลนั้น จะมีการเสนอผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ผ่านสมุดปกขาว ซึ่งปัจจุบันได้รวบรวมแนวทางนโยบายไปแล้วกว่า 90% เหลือปรับจูนข้อมูลอีกเล็กน้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในอีก 1 เดือน หรือภายในเดือนตุลาคมนี้ ในรอบการประชุม กกร.ครั้งหน้า
แนะส่งเม็ดเงินเข้าฐานราก
อย่างไรก็ดี มาตรการเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอย่างเห็นนั้นคือ การส่งผ่านเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยเรื่องรายได้และร้านค้าชุมชนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสร้างบรรยากาศเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี อาจต้องรอการแถลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกที
ในส่วนของภาคการเงิน สมาคมธนาคารไทยได้นำเสนอใน 5 ประเด็นสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงในระบบ เช่น ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพราะหากใส่เม็ดเงินไปเท่าไร จะเหมือนใส่ในเม็ดทรายที่จางหายไป โดยจะต้องมีมาตรการระยะสั้นในการเปลี่ยนแปลงผ่านระดับครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็ก และบูรณาการทั้งระบบโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้คุ้มค่า รวมถึงดูแลหนี้ครัวเรือน และดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ
“รัฐบาลฟอร์มได้รวดเร็ว สะท้อนจุดตั้งต้นของความเชื่อมั่น แต่ต้องรอนโยบายของรัฐบาลอีกที เพราะตอนนี้ยังไม่เห็น Official Statement มาตรการที่จะทำจะต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยจะต้องเชื่อมโยง สอดคล้อง และต่อเนื่อง ซึ่งไม่ควรมองแค่นโยบายการเงินโดด ๆ เพราะทุกภาคส่วนเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ”
SCB ย้ำกระตุ้นระยะสั้น-ยาว
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เบื้องต้นมองว่าจะต้องวางแผนใน 3 ส่วน คือ 1.กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน โดยทำให้เกิดความสมดุลของงบประมาณ เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก
2.แผนสร้างการเติบโตในระยะยาว โดยภาครัฐจะต้องมีโฟกัสว่าจะทำอะไรหรือผลักดันเรื่องอะไร 3-5 อย่าง และ 3.คิดต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป ซึ่งควรจะเป็นมาตรการเฉพาะจุด ไม่ใช่ในวงกว้างมาก
“เราไม่อยากให้มาตรการกระตุ้นเป็นแค่จุดพลุวูบเดียวก็หายไป ดังนั้นหลังจากการกระตุ้น จะต้องสร้างและต่อยอด ซึ่งเมื่อยั่งยืนเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น”
กรุงศรีฯเร่งปล่อยงบฯค้างท่อ
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ภาพหน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก น่าจะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการในระยะสั้น ควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ซึ่งเหลือเวลาอีกครึ่งเดือน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนในด้านอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน
อย่างไรก็ดี การลงทุนนั้น ภาครัฐอาจต้องขับเคลื่อนทั้งการลงทุนที่เป็นแบบ Hard Infrastructure และ Soft Infrastructure เช่น การลงทุนด้านดิจิทัล รวมถึงจะต้องกำหนดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
“รัฐบาลใหม่กลับมาดูและไดรฟ์ต่อ คือ งบประมาณภาครัฐ การบริโภคและการลงทุน โดยการเร่งลงทุนซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจน่าจะขับเคลื่อนและทยอยปรับดีขึ้น โดยกรุงศรีฯคาดว่าจีดีพีทั้งปีน่าจะโตได้ 2.4%”
“มาม่า” เชื่อฟื้น ศก.ดีกว่าเดิม
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การมี ครม.ใหม่อย่างเป็นทางการเป็นปัจจัยบวกจากความต่อเนื่องของนโยบายที่จะได้เดินหน้าต่อได้เป็นรูปธรรม และมีโอกาสที่ ครม.ชุดนี้น่าจะดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจได้ทัดเทียมหรือดีกว่าชุดเดิม เนื่องจากทีมที่ปรึกษาและรัฐมนตรีได้มือที่ค่อนข้างโอเคเข้ามา ซึ่งต้องรอดูสักระยะ
“นอกจากนี้ ครม.ชุดนี้น่าจะมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย สะท้อนจากการมีรัฐมนตรีช่วยที่เป็นทหาร ทำให้เรื่องโผกองทัพน่าจะราบรื่น ส่วนวาระสำคัญจะเป็นการเดินหน้าเติมกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่หาเสียงไว้”
สภาอุตฯเชื่อมั่นรัฐบาลอิ๊งค์
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่อยากเห็นคือการผลักดันและส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการความชัดเจนทั้งทางด้านต่างประเทศ, ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงนโยบายการลดภาระของประชาชนให้เบาบางลง
ส่วนตัวเชื่อว่าจากนี้ไปจะได้เห็นความมุ่งมั่นและการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร อย่างจริงและเป็นรูปธรรม คือการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 3 ปี จากภายในประเทศ รวมทั้งดึงการลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการทำให้ประชาชนมีรายได้ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ผมเชื่อว่าจะได้เห็นการขับเคลื่อนขนานใหญ่จากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้เดินหน้า และยังจะเป็นโอกาสเดินหน้าสร้างฐานความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวให้เพิ่มขึ้นด้วย ภาคอุตสาหกรรมเราหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดี”
“เอ็มจี” เร่งร่วมมือไทย-จีน
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนผลักดันและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และมีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, และความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจโลก
อุตสาหกรรมยานยนต์ก็มียอดจำหน่ายที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง นโยบายและแผนผลักดันเศรษฐกิจที่ถือเป็นการบ้านเร่งด่วนของประเทศไทย คือการเดินหน้าการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข นโยบายที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้และการเข้าถึงทรัพยากร และโอกาสอย่างเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุน
“การส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ในประเทศและเพื่อการส่งออก เร่งประสานความร่วมมือระหว่างผลิตชิ้นส่วนของไทยกับผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การส่งเสริมลงทุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้สานต่อและเดินหน้าอย่างจริงจัง”
สร้างไทยเป็นฮับรถสันดาป
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ได้ร่วมกับสมาชิกของสมาคมเสนอ 3 แนวทางที่อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนและผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยคือ
1.การสร้างประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสุดท้ายสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
2.ปรับตัวขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้พื้นฐานใกล้เคียง
3.การพัฒนาธุรกิจตลาดอะไหล่รถยนต์ให้เติบโตและสร้างรายได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีแผน หรือนโยบายในการดึงการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในให้เข้ามาที่เมืองไทยได้ ผู้ผลิตผู้ประกอบการไทยไม่ได้ต่อต้านใคร เนื่องจากเรามีจุดแข็งคือ มี Supply Chain 2,500 รายเข้มแข็ง และมีแรงงานทักษะฝีมือค่อนข้างสูง เชื่อว่าภาครัฐน่าจะใช้จุดนี้มาช่วยดึงลงทุนได้เข้ามาให้ได้
“สมาคมมองว่าตลาดรถยนต์สันดาปภายในนั้นจะไม่หมดไปจากโลกนี้ รวมถึงตลาด Future ICE อย่างรถยนต์ไฮบริด ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตค่อนข้างสูงในประเทศไทยและหลาย ๆ ภูมิภาค เรามองว่าหากรัฐบาลน่าจะช่วยเหลือในการเจรจากับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ ให้เลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตได้ รวมถึงอาจจะมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น”
สมาคมรถ EV ขอส่งเสริมต่อ
นายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยกล่าวว่า ขอให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และผ่อนเกณฑ์การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะจากปัญหาดังกล่าวทำให้กำลังซื้อในประเทศหายไป เห็นได้จาก 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) มียอดขายรถ EV เพียง 49,000 คันเท่านั้น จึงส่งผลให้ยอดขายรถ EV ทั้งปี 2567 เหลือเพียง 80,000 คัน จากเป้าที่ตั้งไว้ 100,000 คัน
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถ EV ในประเทศไทยเพื่อการส่งออก รวมถึงออกข้อกำหนดให้การลงทุนใหม่ที่เข้ามาจะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้ได้มากที่สุด หรือสนับสนุนด้วยการออกมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนกับผู้ผลิตรถ EV เพื่อให้บริษัทคนไทยได้โอกาสและเข้าไปเป็นซัพพลายเชน ด้วยการร่วมถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30%
รวมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ออกไปอีก 2 ปี
ชงฟื้นบ้านดีมีดาวน์ 1 แสน
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีข้อเสนอจัดทำมาตรการ 4 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1.ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ ภายใต้แนวคิด Old Products New Market ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงพาณิชย์ทำไว้ค่อนข้างดีแล้ว ควรทำให้มีความต่อเนื่อง 2.ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่ 10 ล้านรายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มากกว่า 9 ล้านรายที่มีปัญหาติดกับดักวังวนหนี้
3.ดึงดูดการลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ จุดเน้นอยู่ที่การลงทุนภาครัฐจะต้องเร่งลงทุนขนานใหญ่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน 4.ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่อง เป็นเวลาที่ดีในการพิจารณาทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ เป็นการสร้าง Ease of Doing ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐควรจะรับบทบาทเป็นฟาซิลิเตเตอร์ ไม่ใช่เรกูเลเตอร์ หรือผู้คุ้มกฎเพียงอย่างเดียว
และ 5.สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลควรฟื้นมาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” โดยรัฐอุดหนุนจ่ายเงินดาวน์ให้กับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง สำหรับการซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ในอดีตมาตรการนี้รัฐช่วยดาวน์ 50,000 บาท รอบนี้มีภาวะกำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ จึงเสนอให้ใช้ยาแรง โดยเพิ่มวงเงินรัฐช่วยดาวน์เป็นรายละ 1 แสนบาท