ถอดรหัส 10 นโยบายแพทองธาร ตั้งรับ 40 ขุนพลฝ่ายค้าน รุมซักฟอก

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เตรียมแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา 12-13 กันยายนนี้ แม้ว่าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลพยายามต่อรองกับฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าขอลดเวลาจาก 2 วัน เหลือเพียง 1 วันคือ 12 กันยายน 67

ขณะที่ฝ่ายค้านนำโดย “พรรคประชาชน” เตรียมขุนพลซักฟอกนโยบาย 30-40 ชีวิต ลับมีดรอการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาล กำลังซักซ้อมผู้อภิปรายอย่างขะมักเขม้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ​(ครม.) นัดแรก ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ซึ่งมีความยาวอยู่ที่ 75 หน้า

ในคำแถลงนโยบายของ “แพทองธาร” เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม และการเมือง

ทั้งหมดนี้คือ “ความท้าทาย” ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิ (Empowerment) เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้าและทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สินรายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้

ADVERTISMENT

นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

ADVERTISMENT

นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA)

รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน

พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษีที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษาสาธารณสุขและสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลต (Digital Wallet)

ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้า และตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา

ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตาม ดูแล  ช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม

นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

ถอดรหัสทั้ง 10 นโยบาย จะพบนโยบายแบ่งได้ดังนี้

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อาทิ นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท, ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ, ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน, เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา, นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย, ยกระดับสินค้าเกษตร-อัพเกรดเกษตรกร ทั้ง Agri-Tech, Food Tech

นโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุน อาทิ ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, การพักหนี้ SMEs การจัดทำ Matching Fund ลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน

นโยบายดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ อาทิ นโยบายสร้างสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex), อำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น ทั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่ม Digital Nomad, ส่งเสริมการท่องเที่ยว สานต่อสนามบินอันดามัน สนามบินล้านนา, นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย, ส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว

นโยบายด้านสังคม อาทิ ดึงเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นบนดิน เพื่อนำเงินไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค, เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ, แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 10 นโยบายของรัฐบาลต้องเจอกับการซักฟอกของฝ่ายค้าน

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคประชาชน หัวหอกเตรียมข้อมูลอภิปรายนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร เตรียมจัดทัพ 30-40 ขุนพล ในการซักฟอกนโยบาย

“น่าจะดุเดือด เพราะรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลใหม่ถอดด้าม แต่สืบทอดมาจากรัฐบาลที่แล้ว ยังเป็นรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ จึงจะมีกลิ่นอายการตรวจการบ้าน 1 ปี ของนโยบายที่เคยแถลงไว้ รวมถึงทวงถามสัญญาที่เคยมีไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง หรือการพูดนโยบายในต่างกรรมต่างวาระช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และความคาดหวังว่าประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไรในอีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น อาจจะมีความดุเดือดเล็กน้อย เพราะเราผิดหวังการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายเศรษฐา”

ขณะที่ “อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) หัวหอกตอบโต้ฝ่ายค้านไม่กังวล ฝ่ายค้านจะอภิปราย 30 คน 40 คน หรือทั้งพรรคก็ถือเป็นสิทธิ แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้รัฐบาลของ น.ส.แพทองธารมีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง ซึ่งเห็นได้จากการโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา

1 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ทำไปได้หลายเรื่องและชัดเจนขึ้นมาโดยลำดับ ซึ่งรัฐบาลของ น.ส.แพทองธารจะมาสานต่อ อะไรที่ผลักดันแล้วกำลังจะเกิดก็จะมาผลิดอกออกผลในช่วงนี้

ไม่มีความกังวล เพราะเข้าใจดีว่าเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดี และประชาชนก็ติดตามดูอยู่ และตนคิดว่าเวทีนี้จะเป็นเวทีที่ได้มาตรวจการบ้านรัฐบาลด้วย ว่า 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเพื่อไทยมีอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง และอะไรกำลังทำอยู่ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลยินดีรับฟัง

“การมีองครักษ์คงไม่ต้อง เพราะคนที่อภิปราย และหรือคนที่อาจจะเป็นองครักษ์ถูกตรวจสอบโดยประชาชนอยู่แล้ว คือหากการอภิปรายเกินกว่ากรอบ หรือไม่อยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ การติเพื่อก่อ ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ในทางกลับกันคนที่จะเป็นองครักษ์จะลุกขึ้นสกัด หรือประท้วงโดยไม่สมเหตุสมผล ประชาชนก็จะวิเคราะห์และประเมินเช่นกัน ฉะนั้น โอกาสที่ทัวร์จะลงเกิดขึ้นได้ทุกฝ่าย จึงขอทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

12-13 กันยายนนี้ พลาดไม่ได้