
คอลัมน์ : Politics policy people forum
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหา “จริยธรรม” จากการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นผลให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ต้องร่วงจากตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนที่ 3 ต่อจาก สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
เมื่อวันนี้ พรรคเพื่อไทย เข็น “แพทองธาร ชินวัตร” กล่องดวงใจสำคัญของตระกูลชินวัตร ลงสนาม
การแก้ปัญหาจาก “นิติสงคราม” ผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เว้นหมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย
เสถียรภาพ รบ.ปัจจัยเร่งแก้ รธน.
“ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้ง แบ่งขั้วอุดมการณ์ที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติด้วยการพัฒนาการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส”
“ดังนี้ รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ” คำแถลงนโยบายของ แพทองธาร ระบุ
ย้อนไทม์ไลน์แก้ รธน.
นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เว้นหมวด 1 หมวด 2 เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา มีตั้งลูกตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ 34 คน มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” เป็นประธาน ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 3 ตุลาคม 2566
มีทั้งตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล ตัวแทนองค์กรวิชาชีพกฎหมาย ข้าราชการ-อดีตข้าราชการจากหลายองค์กร ภาคประชาชน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ รับฟังความเห็นจากหลากหลายกลุ่ม และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค
25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการได้ข้อสรุปเรื่องคำถามประชามติ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และจะเสนอ ครม. ช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
1 กุมภาพันธ์ 2567 พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ 2 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายประชามติ 2564 ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เกรงว่าประชามติจะไม่ผ่าน จึงต้องมีการ “ปลดล็อก”
29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องทำประชามติกี่ครั้ง หลังจากเกิดการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมาย
17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
23 เมษายน 2567 ครม.มีมติ เห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการทำประชามติ 3 ครั้ง
28 พฤษภาคม 2567 ครม.อนุมัติร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับรัฐบาล
18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมสภา ได้รับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ รวม 4 ฉบับ คือ ของ ครม. ของพรรคเพื่อไทย ของพรรคก้าวไกล และของพรรคภูมิใจไทย และเข้าสู่การแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ
21 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภา มีมติเป็นเอกฉันท์ 409 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการปรับแก้ จากการที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นใช้เสียงข้างมากธรรมดา คงไว้เพียงว่า “เสียงเห็นชอบ” ต้องเป็นเสียงที่มากที่สุดของผู้มาลงคะแนนเท่านั้น
นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับใหม่ ยังเปิดโอกาสให้การลงคะแนนประชามติเป็นวันเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ได้
2 กุมภา 67 ประชามตินัดแรก
ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านชั้น สส.เข้าสู่การพิจารณาของ สว. คาดว่าใช้เวลาประมาณ 45 วัน หาก สว.ไม่มีการแก้ไข ก็จะดำเนินการประกาศใช้ หรือแก้ไขไม่มาก ก็จะต้องกลับมาให้ สส.ยืนยัน หรือปรับแก้ ไม่เกินกลางเดือนตุลาคม 2567
จากนั้น หลังกฎหมายประชามติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คณะรัฐมนตรี ต้องมีมติให้ดำเนินการออกเสียงประชามติ โดยให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียง และระบุกำหนดวัน ว. เวลา น. ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วันนับตั้งแต่ ครม.มีมติ
เบื้องต้น รัฐบาลเศรษฐาปักหมุดทำประชามติถามประชาชนว่า “เห็นชอบหรือไม่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2” ไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และ นายก อบจ.ทั่วประเทศ
หากยึดไทม์ไลน์เดิมจึงเท่ากับว่า ครม.แพทองธาร จะต้องประกาศทำประชามติก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 90 วัน คือไม่ช้ากว่า 2 พฤศจิกายน 2567
ของขวัญให้คนไทยใน 4 ปี
ก่อนหน้านี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” เป็นผู้รับผิดชอบนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของพรรคเพื่อไทย ระบุเหตุผลถึงการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นผลพวงการรัฐประหาร มักเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง สืบทอดอำนาจ พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายอย่างแน่วแน่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าได้
สำเร็จภายใน 4 ปี หรือไม่ “ชูศักดิ์” ตอบคำถามว่า “ผมเชื่อว่าอย่างนั้น และตั้งใจว่าควรจะสำเร็จภายใต้รัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำมาประกาศใช้เป็นของขวัญชิ้นงามของประชาชนว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาจากการยกร่างโดยประชาชน เพื่อประชาชน น่าจะเป็นทางที่เราเห็นแสงสว่างที่จะสำเร็จ”
มาวันนี้ “ชูศักดิ์” ขยับมาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านกฎหมาย ขับเคลื่อนวาระแก้รัฐธรรมนูญ ถอดชนวนนิติสงคราม