3 ปี บทพิสูจน์รัฐบาล อิ๊งค์-เพื่อไทย

ink
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

เพียงแค่ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31

แพทองธาร ชินวัตร ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย พิสูจน์ฝีมือตั้งแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

เพราะต้องนั่งบัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ที่เกิดน้ำท่วมครอบคลุมถึง 5 อำเภอ ประชาชนที่ประสบภัยนับหมื่นครัวเรือน หนักสุดในรอบหลายสิบปี

เป็นเพียงก้าวแรกที่พิสูจน์ฝีมือ นายกฯ อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม นายกฯ แพทองธาร หาได้เดินลุยวิกฤตคนเดียวโดด ๆ แต่อยู่ในวงล้อมทีมบริหารพรรคเพื่อไทย ทั้งเก๋าประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ ที่พูดคุยภาษาเดียวกัน อีกทั้งยังมี สส. 141 ชีวิต ที่พร้อมเป็นแบ็กอัพให้ในฝ่ายนิติบัญญัติ

แพทองธาร ไม่เดินเดียวดาย ไม่นับ พะยี่ห้อนามสกุล “ชินวัตร” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ย่อมสวมบท “กุนซือ” ตามวาจาที่ลั่นไว้ในฐานะผู้เป็นพ่อว่า “ไม่ครอบงำ แต่ครอบครอง”

ADVERTISMENT

ในการแถลงนโยบายรัฐบาล แพทองธาร ขีดเส้นใต้ก่อนจบด้วยประโยคว่า

“ขอให้ความมั่นใจว่า ดิฉันจะตั้งใจบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดประโยชน์ประชาชน และประเทศ โดยจะสร้างโอกาสเท่าเทียม ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่ประเทศ”

ADVERTISMENT

ทว่า 3 ปีของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การกุมบังเหียน ของ “แพทองธาร” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน

“สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ความเสี่ยงของรัฐบาลเพื่อไทย อย่างน่าสนใจว่า

ความเสี่ยงจริง ๆ คือเข็นไม่ขึ้น สมมุติไม่มีสถานการณ์อะไรมาช่วยให้แก้ตัว เช่น วิกฤตน้ำท่วมใหญ่เข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าเกิดอยู่ในสภาวะที่ปกติมาก ๆ แล้วรัฐบาลยิงนโยบายตูม ๆ ลงไป แต่ไม่เห็นผลอะไร อันนี้ตายแน่ อารมณ์เหมือนรัฐบาลชุดที่แล้วโดน อยู่มาตั้ง 1 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น

สอง ความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นจุดเปราะบางเช่นกัน เพราะเข้าโค้งปีที่ 2 ทุกพรรคเตรียมเลือกตั้ง ดังนั้น นโยบายอะไรที่เชื่อมกับฐานเสียงคะแนนนิยม ต้องถูกผลัก และอะไรที่ไม่ตรงใจกับรัฐบาลเพื่อไทยก็อาจจะมีปัญหา เคลียร์กันไม่ลง เช่น ตอนนี้เราดูกันว่าพรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบายอะไร แล้วจะขัดกับพรรคเพื่อไทยไหม แล้วท่าทีพรรคเพื่อไทยจะยอมไหม

และพรรคเพื่อไทยห้ามอ่อน เพราะวันนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยนำมายันกับพรรคร่วมรัฐบาล คือ ความนิยม ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย แต่ก็พะยี่ห้อ ซึ่งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลยังสร้างความนิยมไม่ได้ ดังนั้น ตราบใดที่สร้างไม่ได้ ก็แปลว่าพรรคเพื่อไทยเสียความนิยมไป ก็จะไปทางพรรคส้ม (พรรคประชาชน) จึงต้องเก็บพรรคเพื่อไทยไว้ก่อน เพื่อยันตรงนี้ไว้ไม่ให้พรรคส้มโตเกินไป

ส่วนพรรคประชาชน หรือ พรรคส้ม แข็งแกร่งด้วยอารมณ์ความรู้สึก ใครก็ตามที่มาเลือกพรรคส้ม ถ้าไม่นับอุดมการณ์ต่าง ๆ มันคือการเลือกเพราะเขาไม่เอากับไทยสไตล์โมเดลในระดับชาติ แบบพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าไม่มีแบบพรรคส้มก็จะโหวตโน ถ้าความรู้สึกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ พรรคส้ม หรือ พรรคประชาชน ก็จะโตตามความรู้สึกแบบนี้

ดังนั้น ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ต้องทำให้ความรู้สึกอยากเปลี่ยนลดลง ให้เห็นว่าระบบแบบไทยสไตล์โมเดลไปได้นี่หว่า มันไม่ได้แย่ ต้องให้เห็นว่าอยู่กับเราก็เท่าเทียม เป็นธรรมได้

“ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ต้องหยิบยื่นโอกาสให้ไปเลย สร้างความเท่าเทียมด้วยโอกาส ต้องให้เห็นจริง ๆ ว่าอะไรคือโอกาส ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่แจกเงิน แต่โอกาสในการใช้ชีวิต ทำมาหากิน ต้องนึกถึง 30 บาทรักษาทุกโรคอะไรไว้ในใจ ว่านโยบายอะไรในทางเศรษฐกิจที่จะทำให้คนรู้สึกเหมือนโครงการ 30 บาท”

3 ปีจากนี้คือบทพิสูจน์ของรัฐนาวาแพทองธาร