
เปิดประวัติ “โฟลค์-ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ จากพรรคประชาชน และ “บู้-จเด็ศ จันทรา” จากพรรคเพื่อไทย พร้อมไม้เด็ดสู้เลือกตั้งซ่อม เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก
ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นผลให้ตำแหน่งสส. เขต 1 พิษณุโลกว่าง และจำเป็นจะต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่
นับเป็นการต่อสู้ที่ค่อนข้างน่าติดตามทันทีที่พบว่า มีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่ส่งตัวแทนลงชิงเก้าอี้ สส. เขต 1 จ.พิษณุโลก คือ “บู้-จเด็ศ จันทรา” พรรคเพื่อไทย และ “โฟลค์-ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” พรรคประชาชน
“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปส่องประวัติของตัวแทนจากพรรค พร้อมไม้เด็ดทั้งสองพรรคนำมาใช้หาเสียงเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อม เขต 1 จ.พิษณุโลก
“ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” หมายเลข 1 จากพรรคประชาชน

ประวัติ
ณฐชนนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม(2551) และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิติศาสตร์(2556)
ประสบการณ์ทำงาน
- ประธานบริษัท YEC หอการค้า จ.พิษณุโลก
- ประธานบริษัท Young FTI สภาอุตสาหกรรมจ.พิษณุโลก
- ตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัว “ปดิพัทธ์ สันติภาดา”
- นักวิชาการประจำตัวรองประธานสภาผู้แทนราษฏรคนที่ 1
- ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร จ.พิษณุโลก
ปัจจุบันณฐชนนเป็น 1 ในผู้ถือหุ้น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง” และตัวแทนพรรคประชาชนเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก เขต 1
“จเด็ศ จันทรา” หมายเลข 2 จากพรรคเพื่อไทย

ประวัติ
จเด็ศจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ระดับปริญญาตรี-โท การบริหารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยนอร์ท
ประสบการณ์การทำงาน
- อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (10 ปี)
- อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
- เคยมีส่วนร่วมในโครงการของพรรคเพื่อไทย อาทิ โครงการจำนำข้าว, โครงการรถคันแรก และโครงการกองทุนหมู่บ้าน
ปัจจุบันจเด็ศเป็นผู้แทนพรรคเพื่อไทยเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก เขต 1
ไม้เด็ดสู้เลือกตั้ง
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพบว่า นายปดิพัทด์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเสียง 40,842 คะแนน ถือเป็นข้อได้เปรียบของฝ่ายณฐชนน จากพรรคประชาชน ที่มีฐานเสียงจากชัยชนะครั้งที่แล้วเป็นทุนเดิม
ในขณะที่เป็นเรื่องท้าทายของจเด็ศที่มีฐานเสียงน้อยกว่า และส่งใบสมัครเลือกตั้งช้ากว่าถึง 2 วัน ทำให้เสียเวลาและโอกาสในการเพิ่มคะแนนเสียงให้มากขึ้น สำหรับข้อได้เปรียบที่ผู้สมัครทั้งสองมีเหมือนกันคือ การเข้าถึงประชาชนในเขตพื้นที่ สามารถเข้าไปรับฟัง และช่วยเหลือ พร้อมแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเกิดและเติบโตที่จังหวัดพิษณุโลก
การหาเสียงของฝั่งของณฐชนน จากพรรคประชาชน ใช้วิธีการเรียกความเชื่อมั่นจากฐานเสียงเดิม ด้วยการขนแม่ทัพอย่าง”เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค และผู้นำพรรค อาทิ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”, “ชัยธวัช ตุลาธน” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลและ “ปดิพัทธ์ สันติธาดา” มาลงพื้นที่หาเสียงช่วยณฐชนนด้วยตัวเองที่พิษณุโลก
การปราศรัยครั้งนั้น (7 ก.ย. 2567) นอกจากประชาชนฐานเสียงเดิมจะได้ความมั่นใจในการเลือกณฐชนนในครั้งนี้แล้ว ยังได้รับความเชื่อมั่นจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า
“การเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่นำไปสู่รัฐบาลประชาชน ปี 2570 ผมขอสัญญาว่าพวกเขาจะเป็นรัฐบาลที่ดีมี่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา”
ฝั่งจเด็ศ จากพรรคเพื่อไทย ก็ได้นำทัพแกนนำพรรคมาช่วยเหลือในการหาเสียงเช่นเดียวกัน โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นางพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษานายกฯ และนายพิพัฒชัย ไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคมาช่วยปราศรัยในครั้งนี้ โดยนายเสริมศักดิ์งัดไม้เด็ดเปรียบเทียบทั้งสองพรรคว่า
“จุดแข็งของพรรคตนนั้นคือการเป็นพรรครัฐบาลที่จะสามารถเขียนโครงการเพื่อใช้งบประมาณในการช่วยเหลือประชาชนได้ ขณะที่ฝ่ายค้านทำได้เพียงติติงและคอยคัดค้าน”
จึงเป็นการตัดสินใจและต้องมองภาพอนาคตของประชาชน ว่าการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ว่า พรรคที่อยากจะเลือกนั้นจะส่งสามารถช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกได้หรือไม่
ซึ่งจากคำปราศรัยของทั้งสองฝั่งจึงอนุมานได้ว่า นี่คือ การต่อสู้ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านอื่นเข้าชิงชัยชนะในครั้งนี้ก็ตาม