
ศปช.มอบกระทรวงมหาดไทยเร่งจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม หลัง ครม.อนุมัติงบฯ 3 พันล้าน-คาดฝนเหนือ อีสาน จบกลางเดือนตุลาคม ก่อนลงใต้ “ผบ.ทสส.” ยันกองทัพพร้อมรับมือพายุลูกใหม่
วันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ว่า วันนี้ในที่ประชุมจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องสำคัญคือ
1.ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์ และธุรการในการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม จนเกิดอุทกภัย เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
2.บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการคาดการณ์วิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือน สร้างการรับรู้
3.ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย รวมไปถึงการวางแผนการเคลื่อนย้าย การจัดเตรียมที่พักอาศัย และการจัดส่งอาหารเครื่องมืออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ
4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ ในการเป็นแม่ข่ายดำเนินการ ให้ปรับผังการประชาสัมพันธ์มาที่เรื่องสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องหลัก ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อป้องกันดรามาทั้งหลาย ซึ่งขอให้โฟกัสไปที่เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก
5.เชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และ 6.ต้องรายงานผลให้ ศปช.ทราบเป็นระยะ ๆ
โดยทั้งหมดนี้คือภารกิจของเป้าหมายเบื้องต้นในการดำเนินการ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของฝน หรือพายุ ที่เข้าประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
คาดว่าจะจบลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นสถานการณ์ฝนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น ศปช.จะดำเนินการเฉพาะหน้าเพื่อจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องไปจนจบสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะจบในปีนี้
ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน จะสามารถจ่ายเร็วที่สุดช่วงเวลาใดนั้น นายภูมิธรรมระบุว่า เมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 3,045 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้ทันที และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และพยายามไม่ทำให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย
เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปแล้ว เวลานี้หัวใจสำคัญที่สุด คือให้เราได้รู้สึกว่าได้ดูแลเยียวยา หากเรามัวรอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติมอะไรก็จะใช้เวลา จึงได้มีมติอนุมัติในเงินก้อนแรกจำนวน 3,045 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้เวลาประมาณอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะกฎเกณฑ์นี้ใช้มา 10 กว่าปี ก็คาดว่าน่าจะมีการปรับกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมยอมรับว่าการวางกฎเกณฑ์มีปัญหาหลายอย่าง เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้คิดว่าจะต้องจัดการอย่างไรเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น
นายภูมิธรรมย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยจะเป็นตัวหลักในการจัดการงบประมาณก้อนนี้ และเรื่องที่สำคัญคือการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และแยกออกจากความเสียหายในส่วนของพืชผลจากไร่นาต้องรออีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หนึ่งชุด เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาเพิ่มเติม ในการทบทวนกฎระเบียบการเยียวยา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหนึ่งคณะ เพื่อไปศึกษารูปแบบการเยียวยา และการกำหนดจำนวนปริมาณ จะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการเตือนภัยล่วงหน้า ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA., สารสนเทศของกรมทรัพยากรน้ำ, หน่วยงาน ปภ., กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการตรวจสอบทิศทางลมมรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่ต้นทางตั้งแต่เขตประเทศเมียนมา และประเทศจีน และให้มีการประสานงานกับค่ายผู้ให้สัญญาณโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ มาร่วม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที

ขณะที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยว่า กองทัพทำงานอย่างเต็มที่ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับการเตรียมรับมือพายุลูกต่อไปในพื้นที่ภาคอีสาน
เมื่อถามว่าช่วงใกล้เกษียณอายุราชการการทำงานของหน่วยต่าง ๆ จะไร้รอยต่อใช่หรือไม่ พล.อ.ทรงวิทย์ยืนยันว่าจะไม่มีรอยต่อ ทุกคนจะต้องทำงาน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และเชื่อว่าทหารทุกคนที่จะเกษียณอายุราชการจะยังคงปฏิบัติหน้าที่
พล.อ.ทรงวิทย์ยังระบุอีกว่า เมื่อสักครู่ได้หารือกับอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งหน่วยบัญชาการกองทหารพัฒนา อยู่ในกองทัพไทย อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และจะร่วมมือกับทาง ปภ.เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้เร็วขึ้น รวมไปถึงหน่วยกองทัพบกมีกำลังพลอยู่ ซึ่งต้องช่วยกันทั้งเครื่องมือและกำลังพล ซึ่งกรมทหารพัฒนาถือเป็นหน่วยที่อยู่ในสนามอยู่แล้ว จึงต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมงให้ได้ นี่คือเป้าหมาย
พล.อ.ทรงวิทย์ยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 300 นาย รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด