เปิดแผนวอร์รูมไทยคู่ฟ้า รัฐบาลอิ๊งค์ รุกแก้เศรษฐกิจ-กับดักการเมือง

รัฐบาลอิ๊งค์
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เวลาการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หาใช่เหลือ 3 ปี เหมือนนับนิ้วง่าย ๆ ว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ทำงานมา 1 ปี รัฐบาลแพทองธารเหลือเวลา 3 ปีที่จะสานต่อ

เพราะจริง ๆ แล้ว เหลือเพียงแค่ 2 ปี 8 เดือน

เนื่องจากอายุรัฐบาลต้องนับที่อายุของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวาระ 4 ปี

นับจากวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ไม่ใช่นับจากวันที่มีรัฐบาล

เมื่อเหลือเวลา 2 ปี 8 เดือน รัฐบาลแพทองธาร จึงต้องใส่เกียร์ 5 เร่งสปีดผลงานเต็มพิกัด แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดชัยชนะทางการเมือง จึงต้องจัดทีมงานระดับสุดยอดฝีมือ เพื่อปั้นผลงาน และปัดป้องภัยอันตรายไม่ให้สะเทือนถึงนายกรัฐมนตรี

แผนรุก-รับ ในทำเนียบ

ในการวางแผนขั้นต้นของรัฐบาลแพทองธาร จะไม่เน้นการลงพื้นที่ถี่ยิบ แต่ไปตามวาระความเดือดร้อนของประชาชน และประสานความร่วมมือกับ สส.ในสภา

ADVERTISMENT

วางแผนรัดกุมทั้งด้านงานนโยบาย ด้านการบริหารประเทศ และการพิจารณากฎหมาย ไม่ให้เข้าทางพวก “นักร้อง” ที่คอยจ้องเล่นงาน

งานกฎหมาย และการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่สภา เป็นหน้าที่ของวิปรัฐบาล และ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฎหมายของพรรคเพื่อไทย หรือของรัฐบาล ทันสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมากฎหมายฝ่ายรัฐบาลเข้าสภาน้อยยิ่งกว่าน้อย ต้องคอยส่งกฎหมายประกบพรรคก้าวไกล ที่ถ่ายเลือดเป็นพรรคประชาชน

ADVERTISMENT

“บางครั้งกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นเข้าสภา ไม่ต้องการให้เกิดผลทางปฏิบัติได้จริง เพียงแต่ต้องการให้เกิดกระแสทางการเมืองขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องรับมือให้ทัน”

ขณะที่งานการเมือง-มวลชน รัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบ แม้ว่าในยุครัฐบาลเศรษฐา มีม็อบปักหลักค้างคืนข้างทำเนียบรัฐบาลหลายเดือน แต่จุดไม่ติด ทว่ามีเสียงเตือนในช่วง 2 ปีหลังจะเป็นจุดอันตราย หากมีประเด็นแหลมคม ม็อบอาจจุดติดได้ภายในพริบตา

ดังนั้น ทีมมอนิเตอร์ของรัฐบาลต้องรู้ทุกม็อบว่า ใครเป็น “เจ้าภาพ” เพื่อเตรียมแผนเจรจา ตัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

ส่วนการแก้เกม “นักร้อง” การเมือง ที่ “แพทองธาร” เข้าสู่อำนาจไม่กี่วันก็ถูกร้องไปนับ 10 คดีนั้น ฝ่ายเสนาธิการทำเนียบประเมินว่า “คำร้องที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่มีอะไรน่าห่วง” แต่ก็จะฟ้องกลับหากทำให้รัฐบาลเสียหาย

ด้านการพีอาร์ผลงานรัฐบาล มี “จิรายุ ห่วงทรัพย์” เข้ามาเป็นโฆษกรัฐบาล ปิ๊งไอเดีย “ของดีประเทศไทย” ให้แต่ละกระทรวงรวบรวมผลงานแล้วมาเผยแพร่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ พร้อมทั้งจัดรายการทอล์กให้ระดับ นายกฯ-รัฐมนตรี เข้ามาพูดคุย ขณะเดียวกันในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกวันอังคาร ก็จะใช้พื้นที่ขายสินค้าเด่นประจำจังหวัด

ตัวจริงเพื่อไทยปรากฏกาย

ขณะที่งานด้านเศรษฐิจ นอกจากมีคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ “แพทองธาร” นั่งเป็นหัวโต๊ะแล้ว ยังมีทีมงานนโยบาย มีการตั้ง 5 กุนซือ ระดับตัวจริงเพื่อไทย ทำงานร่วมกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธาน ชื่อนี้แฟนพันธุ์แท้พรรคไทยรักไทย เพื่อไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาคือมันสมองของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย เป็นตัวจักรสำคัญของนโยบาย Dual Track-ทักษิโณมิกส์

ในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีการตั้ง “พันศักดิ์” เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การต่างประเทศ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อการพัฒนา หนึ่งในนั้นคือนโยบายรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน

ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน “พันศักดิ์” ก็นั่งเป็นที่ปรึกษากรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ที่นายกฯแพทองธาร เป็นประธาน และยังมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคเพื่อไทย

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อาจเรียกได้ว่าเป็น “กุนซือ” ข้างกายนายกฯ แพทองธาร เพราะเป็นคู่คิดในการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ในฐานะรองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มาถึงรัฐบาลเศรษฐา “หมอเลี้ยบ” นั่งเป็นเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องของเมืองไทย ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการอนุมัติแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยนั่งเก้าอี้กรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายงานวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด และหลังจากเกษียณก็ยังคงนั่งเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มาจนกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ศุภวุฒิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งใน คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคเพื่อไทย

ธงทอง จันทรางศุ เป็นหนึ่งในเทคโนแครตที่เชี่ยวชาญในหลายด้าน

ตำแหน่งล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รับหน้าที่ ประธานคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

เขาบอกว่า การทำงานในสองลักษณะ ลักษณะแรกคือการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการทั้ง 5 คน โดยมาช่วยกันคิดช่วยกันประชุมในบางเรื่องที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจร่วมกัน แต่บางเรื่อง ก็จะเป็นเรื่องที่แต่ละคนไปทำงานโดยเฉพาะ

เช่น ในส่วนของตนรู้ว่าต้องทำงานในเรื่องของปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเคยทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะยุติบทบาทการเมือง ออกจากพรรคเพื่อไทย แต่ไม่เคยห่างไกลไปไหน เขาบอกว่ายังสามารถเรียกใช้งานได้ทุกเมื่อ เคยนั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พงศ์เทพ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ใหม่เวลานี้ว่า ดูเรื่องหลัก ๆ ด้านนโยบาย เรื่องที่นายกฯมอบหมาย คณะกรรมการชุดนี้จะต้องนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนไปได้

เมื่อตัวจริง เสียงจริง ปรากฏกาย เป็นตัวช่วยให้ “แพทองธาร” ไปถึงเส้นชัยอีก 2 ปี 8 เดือนที่เหลือ