
รัฐบาล ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของออมสิน พักจ่ายเงินต้น ไม่คิดดอก 3 เดือน ให้ SMEs
วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต้ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารออมสินจำนวน 5 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงิน 1 แสนล้านบาท
เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ นอกจากนี้ธนาคารออมสินยังดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือโดยการพักหนี้อัตโนมัติ พักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนช่วงเดือน ตุลาคมถึงธันวาคม 2567 ให้กับสินเชื่อ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
รวมถึงสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทและสินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ และสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยจำนวนกว่า 110,000 บัญชี คิดเป็นเงินต้นรวมกว่า 43,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. รับทราบโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ของ บสย.
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการฟื้นฟูกิจการ จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน
โดยจัดสรรวงเงินโครงการจำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการเดิม
โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินสามารถจัดสรรวงเงินโครงการได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้ได้รับสินเชื่อตามโครงการได้อย่างเพียงพอและช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ บสย.ได้จัดทําโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี 2567 ภายใต้โครงการ PGS 11 ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
โดยจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการเพิ่มขึ้น เป็นไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมเฉลี่ยทั้งโครงการไม่เกินร้อยละ 30 อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.25 ต่อปี รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการใน 3 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี รับคําขอค้ำประกัน 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถขอรับค้ำประกันสินเชื่อในโครงการย่อยอื่นภายใต้ โครงการ PGS 11 ได้ และเมื่อรวมวงเงินค้ำประกันของทุกสถาบันการเงินต้องไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย
ทั้งนี้ ประโยชน์และผลกระทบจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดําเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินดังกล่าว จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการฟื้นฟูกิจการ