คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบายแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับของพรรคเพื่อไทย เดินมาถึง “จุดเปลี่ยน” สำคัญ
เมื่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สว. ได้ปรับแก้เกณฑ์การผ่านประชามติ ให้กลับไปใช้ระบบ Double Majority หรือชนะเสียงข้างมาก 2 ชั้น
ชนะชั้นแรก คือ ประชาชนที่มา “หย่อนบัตร” ออกเสียงประชามติ จะต้องมีจำนวนมากกว่า “ผู้มีสิทธิออกเสียง”
ชนะชั้นที่ 2 คือ ในประเด็นที่ออกเสียงประชามติ จะต้องได้เสียง “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่ง
ด้วยเสียงเห็นชอบ 164 ต่อ 21 ให้กลับไปใช้ Double Majority และเห็นชอบกับร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ ทั้งฉบับ 167 เสียง เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่เห็นด้วย 19 เสียง
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ฝ่าย สส.พยายามแก้กฎหมายประชามติ 2564 ที่จากเดิมใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น มาเป็นใช้ระบบเสียงข้างมากชั้นเดียว
กล่าวคือ ประเด็นที่ออกเสียงประชามติ จะต้องได้เสียง “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่ง เพราะเกรงว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มตั้งไข่มาตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา จะล้มไม่เป็นท่า เพราะติดเรื่องเดดล็อกประชามติ หากใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น
และจะกระทบต่อการออกเสียงประชามติครั้งที่ 1 ที่ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
ความพยายามของเพื่อไทย
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ในคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกในรัฐบาลเศรษฐา ยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจแก้รัฐธรรมนูญ
ไม่ได้อธิบายแทนพรรคเพื่อไทย แต่พูดในฐานะคนหนึ่งที่อยู่ในนั้น แต่ความตั้งใจมีเต็มร้อย แต่พอเรากับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 เราก็ไม่อยากทำประชามติ 3 รอบ เพราะไม่มีใครอยากทำประชามติ 3 รอบ รอบละ 3,000 ล้านบาท
ที่ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา ยื่นคำร้องของสมาชิกรัฐสภา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะประชามติกี่ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับคำร้อง และระบุเป็นนัยว่าศาลวินิจฉัยชัดเจนไปแล้ว
ซึ่งก่อนที่เราเดินสายในกรรมการชุดนี้เดินสายรับฟังความเห็นถามผู้รู้ทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็คือยืนยันว่าต้องทำ 3 รอบ ทีนี้พอทำ 3 รอบ คณะกรรมการก็มาเริ่มกังวลใจว่าแล้วทำรอบแรกมันจะผ่านไหม ก็มาดูที่ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีเกณฑ์ขั้นต่ำ 2 เกณฑ์ ดังนั้นมันก็เลยช้าลงไปอีก
“ถามว่าพยายามมากไหม พยายามมาก เพราะมีอุปสรรคเยอะ แต่ถามว่าทำให้เร็วกว่านี้ได้ไหม ทำได้ แต่ผ่านมาปีหนึ่ง ตอนนี้คงได้แค่นี้ เพราะส่วนหนึ่งต้องโทษตัวรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยว่า คนร่างเขาไม่ให้แก้ ห้ามแก้ แต่พรรคเพื่อไทยต้องพยายามสื่อสารตรงนี้กับสังคม เพราะแม้พรรคประชาชนขึ้นมาก็ต้องเจอด่านหินตรงนี้”
จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติ ทว่า… สุดท้ายเมื่อร่างกฎหมายประชามติฉบับที่ปลดล็อกเสียงข้างมาก 2 ชั้น ไปอยู่ในมือของ สว. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็น สว.สายสีน้ำเงิน มีการพลิกเกมในนาทีสุดท้าย
รัฐบาลไม่ทันตั้งตัว
แหล่งข่าวในห้องประชุม สว. ฝั่งตัวแทนฟากรัฐบาล ยอมรับว่า รัฐบาลจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เห็นสัญญาณจาก สว.ว่าจะ “พลิกเกม” เช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของฝั่งสภาผู้แทนราษฎรมาตลอด และมาตราเรื่องเกณฑ์การทำประชามติได้พิจารณาผ่านไปแล้ว กระทั่งมาเปลี่ยนในการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 5
“มองได้ 2 อย่าง กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน อาจมองว่าการออกเสียงประชามติน่าจะเป็นอะไรที่มากกว่า แต่อีกอันหนึ่งเขารู้อยู่ว่าถ้าย้อนกลับไปใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ฝ่าย สส.ยืนยันไปก็ทำได้แค่ประวิงเวลา เพื่อไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญเสร็จในรัฐบาลชุดนี้”
ส่อแขวน 180 วัน
ขั้นตอนต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 (3) ระบุดังนี้
ขั้น 1 ถ้า สว.มีการแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติมจาก สส. ให้ส่งร่างกฎหมายนั้นกลับมาเพื่อให้ที่ประชุม สส.เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ขั้น 2 ถ้าที่ประชุมสภา สส.ไม่เห็นชอบ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อมาร่วมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ขั้น 3 เสนอให้ที่ประชุมทั้ง 2 สภา ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน
ขั้น 4 หากพ้น 180 วัน สส.ยืนยันตามร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภา สส.ก็ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม 2 สภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138
เพื่อไทยเดินหน้า
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนี้ต้องมาพิจารณากันดู และอาจมีคณะกรรมาธิการร่วม ถ้าเป็นแบบนี้กฎหมายประชามติจะช้าออกไปและกระทบไทม์ไลน์แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน จากที่ในเดือน ก.พ. 2568 จะต้องทำประชามติ พร้อมกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถ้าไม่ทันแสดงว่ากฎหมายนั้นต้องแยกไปพิจารณา ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้คือ ตัวแทนพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ควรหารือร่วมกันว่าท้ายสุดจะเป็นอย่างไร
ตอนนี้มีข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยให้เขียนว่าสามารถที่จะเสนอญัตติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ถ้าผ่านสภาก็สามารถทำประชามติได้ทันที ขณะเดียวกันมีความเห็นจากนักวิชาการว่า สามารถทำประชามติ 2 ครั้งได้ ไม่ต้อง 3 ครั้ง ทางออกขณะนี้คือให้หัวหน้าพรรคคุยกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นนโยบายรัฐบาลควรเดินอย่างไร ในเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้
ส่วนจะทำประชามติ 2 ครั้ง ถือเป็นการข้ามขั้นตอนหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้า และหากจะเดินหน้าจะเดินอย่างไรและมีทางเลือกอย่างไร
หากย้อนไทม์ไลน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นมา มีการแก้ไขทั้งหมด 6 ครั้ง 26 ฉบับ ถูกตีตกทั้งหมด 25 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นกฎหมายที่ “นักเลือกตั้งเสนอ” 23 ฉบับ และฉบับที่ประชาชนเสนอ 2 ฉบับ
ผ่านเพียง 1 ฉบับ เรื่องเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ที่นักเลือกตั้งเสนอ นำมาสู่การเลือกตั้งระบบ 2 ใบ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่เหลือถูกตีตก
เป็นความพยายามครั้งที่ 7 แต่ส่อแววว่าไม่อาจสำเร็จในรัฐบาลเพื่อไทย