แพทองธาร แก้โจทย์เศรษฐกิจ สู้มรสุมนิติสงคราม 2 เดือน 20 คำร้อง

ink-Solve
คอลัมน์ : Politics policy people forum

กว่า 2 เดือนที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31

กว่า 1 เดือน ที่ได้บริหารประเทศหลังจากแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา

“แพทองธาร” ต้องแบกภาระ-โจทย์ร้อนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจไว้บนบ่า

แจกเงินหมื่น สร้างความเชื่อมั่น

ในจังหวะที่เศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้น พอเข้าสู่ยุครัฐบาลแพทองธาร ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย พร้อมกดปุ่มแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน

โจทย์ถัดไป คือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พุ่งเป้า “มนุษย์เงินเดือน” โดยมีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในปี 2568 และเดินหน้าดิจิทัลวอลเลต

ฟื้นตำนาน “กุนซือบ้านพิษฯ”

ขณะเดียวกัน มีการตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ฟื้นตำนาน “กุนซือบ้านพิษณุโลก” เป็นมันสมองในการแก้เศรษฐกิจ และสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ โดยมีต้นแบบ “กุนซือบ้านพิษฯ” สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

Advertisment

โชว์วิชั่นไทยบนเวทีอาเซียน

ส่วนด้านการต่างประเทศในรอบ 2 เดือน “แพทองธาร” แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ถึงความสำคัญของการทบทวนสถาปัตยกรรมทางการเงิน

โดยในปี 2568 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ACD จะจัดการประชุมเพื่อพิจารณาการพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการเงิน ซึ่งจะโยงถึงความพยายามเป็น Financial Hub ของไทย

Advertisment

ด้านการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “แพทองธาร” ได้เข้าร่วมประชุมกว่า 20 วาระ มีวาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การลงทุนด้านพลังงานสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในโครงการ 6 Countries 1 Destination ที่เริ่มตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน การแก้ปัญหาข้ามพรมแดน อาชญากรรมไซเบอร์ การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฝ่า 20 คำร้องนิติสงคราม

แต่ในทางตรงกันข้าม “แพทองธาร” ต้องเผชิญพายุ “นิติสงคราม” เพราะตั้งแต่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2 เดือน มีนักร้องยื่นคำร้องกว่า 20 คำร้อง

คำร้องที่ 1 เรืองไกร ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า น.ส.แพทองธาร ในฐานะรองประธานยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตาม หรือไม่ คำร้องที่ 2 บุคคลนิรนาม ยื่นร้อง กกต. ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

คำร้องที่ 3 เรืองไกร ยื่น ป.ป.ช. แพทองธาร กับครอบครัวไปกินข้าวที่โรงแรมแรนโช ชาญวีร์ เขาใหญ่ ใครจ่ายเงินให้ เพราะหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

คำร้องที่ 4 เรืองไกร ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบว่า แพทองธาร ลาออกจากกรรมการ 21 บริษัทในเครือชินวัตร จริงหรือไม่ คำร้องที่ 5 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ แพทองธาร และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี อาจขาดคุณสมบัติ เรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

คำร้องที่ 6 สนธิญา สวัสดี ขอให้อัยการสูงสุด แพทองธาร ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีแต่งตั้ง เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดชอิศม์ ขาวทอง เป็น รมช.สาธารณสุข กรณีมีเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. คำร้องที่ 7 เรืองไกร ยื่น กกต. ตรวจสอบ แพทองธาร กรณีเสนอชื่อ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็น รมว.กลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

คำร้องที่ 8 นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นต่อ กกต. ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีประชุมจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ยอมให้ ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ

ร้องมินิฮาร์ต

คำร้องที่ 9 เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ แพทองธาร ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม กรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรีถ่ายรูปในท่ามินิฮาร์ต ขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดปกติขาว คำร้องที่ 10 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่น กกต. ให้ตรวจสอบ กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย คำร้องที่ 11 เรืองไกร ร้อง กกต.ให้ตรวจสอบ แพทองธาร เสนอชื่อ สุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็น รมช.คมนาคม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

คำร้องที่ 12 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่น กกต. ตรวจสอบ กรณี แพทองธาร แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำร้องที่ 13 เรืองไกร ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบ แพทองธาร ชูนิ้วมินิฮาร์ต ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาว

คำร้องที่ 14 เรืองไกร ยื่นร้อง กกต.ให้ตรวจสอบ แพทองธาร ตั้ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว.สาธารณสุข และตั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น รมว.ยุติธรรม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

คำร้องที่ 15 เรืองไกร ร้องต่อ กกต. สอบ แพทองธาร ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

ทักษิณ ครอบงำเพื่อไทย

คำร้องที่ 16 เรืองไกร ขอให้ กกต. ตรวจสอบ แพทองธาร แต่งตั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 15 หรือไม่

คำร้องที่ 17 คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ขอให้ กกต.พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของ แพทองธาร-อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีไม่ดำเนินการ ให้มีการคืนที่ธรณีสงฆ์ให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร

คำร้องที่ 18 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ คำร้องที่ 19 เรืองไกร ยื่นร้อง กกต.เพิ่มเติม กรณีแต่งตั้ง นพ.สุรพงษ์ และ ณัฐวุฒิ เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ

คำร้องที่ 20 เรืองไกร ยื่นร้อง กกต.ตรวจสอบ แพทองธาร ขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ จากเหตุการณ์ตอบคำถามเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 กันยายน 2567

แพทองธารต้องบริหารประเทศ ฝ่ากับดักนิติสงคราม