เค้าโครงคณะปฏิรูป คสช. จ่ายเช็คล่วงหน้า 5 ปี 7 แสนล้าน

การปฏิรูป 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้

ดอกไม้ที่มาจาก “คนกันเอง” เพราะยอมแลกกับการ “เว้นวรรค” ประชาธิปไตย กวักมือเรียกทหารออกมารัฐประหาร เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

และก้อนอิฐที่มาจาก “คนกันเอง” เช่นกัน อย่าง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย ที่ออกมาฉะ-เฉ่งว่ารัฐราชการเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ภายหลัง “แผนการปฏิรูปประเทศ” ทั้ง 11 ด้าน ประกาศบังคับใช้ ภายใน 5 ปี รัฐบาล-คสช.และรัฐบาลถัดไปต้องปฏิรูปตามพิมพ์เขียวที่ประกาศไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฏิวัติโครงสร้าง ศก. 6 แสนล้าน

แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ วงเงิน 593,211 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย การเพิ่มผลิตภาพ (productivity) อาทิ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 4,023 ล้านบาท

2.อุตสาหกรรมการอาหาร เวลาดำเนินการ 2 ปี วงเงิน 13,832 ล้านบาท 3.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 15 ล้านบาท 4.อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 1,563 ล้านบาท

5.การเพิ่มประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี-โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 166.7 ล้านบาท 6.การเพิ่มประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี-big data เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 1,813 ล้านบาท

7.การเพิ่มระดับการแข่งขันทางธุรกิจ-หน่วยงานดูแลควบคุมด้านกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าและตลาดเสรี เวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงิน 1,000 ล้านบาท

การรวมกลุ่มในภูมิภาค อาทิ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านการรวมกลุ่มในภูมิภาค พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาเมืองหลัก/เมืองศูนย์กลางของภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนในต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค

ระบบนิเวศด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อาทิ 1.การปฏิรูปกรมทรัพย์สินทางปัญญา เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 255 ล้านบาท 2.การตั้งศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพและสเกลอัพ เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 9,000 ล้านบาท

ด้านความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ประกอบด้วย การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตในระดับบุคคล อาทิ 1.การขยายผลโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ 2.การพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตร เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 492,397 ล้านบาท

การเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน อาทิ 1.การพัฒนาธุรกิจชุมชน เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 2,557 ล้านบาท/ปี 2.จัดตั้งกองทุน social invest fund (SIF) เวลาดำเนินการ 6 เดือน วงเงิน 2,000 ล้านบาท/ปี

การสร้างความสมดุลระดับประเทศ อาทิ 1.การจัดตั้งสำนักงานบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เวลาดำเนินการ 3 เดือน วงเงิน 2,000 ล้านบาท/ปี 2.การขยายความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคม เวลาดำเนินการ 1 ปี วงเงิน 5,000 ล้านบาท/ปี

3.ระบบเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย (NIT) เวลาดำเนินการ 2 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท/ปี 4.การสร้างความมั่นคงด้านที่ดินให้กับประชาชน เวลาดำเนินการ 12 เดือน วงเงิน 5,590 ล้านบาท/ปี

การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ อาทิ 1.การปฏิรูปหน่วยงานบริหารสินทรัพย์ภาครัฐ (รัฐวิสาหกิจ) 2.การจัดตั้งองค์กรใหม่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท

ปฏิรูปการเมือง 200 ล้าน

แผนปฏิรูปด้านการเมือง วงเงิน 221.85 ล้านบาท ได้แก่ 1.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 44.37 ล้านบาท

2.กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 44.37 ล้านบาท 3.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากร เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 44.37 ล้านบาท

4.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 44.37 ล้านบาท และ 5.การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 44.37 ล้านบาท

ยกเครื่องราชการ 3.3 หมื่นล้าน

แผนปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน วงเงิน 33,408.15 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 เรื่อง 24 กลยุทธ์ 56 แผนงาน อาทิ 1.บริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน 2.ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐาน ทันสมัยและเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล 3.โครงสร้างภาครัฐกะทัดรัด ปรับตัวได้เร็วและระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง

โละ-รื้อ ใบอนุญาต 7 แสนฉบับ

แผนปฏิรูปด้านกฎหมาย วงเงิน 991 ล้านบาท และ 528 ล้านบาทต่อปี อาทิ 1.มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น รวมถึงมีกลไกการทบทวนกฎหมาย เวลาดำเนินการ 3 ปี วงเงิน 400 ล้านบาท และ 5 ล้านบาทต่อปี

2.ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรค เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 85 ล้านบาท และ 100 ล้านบาทต่อปี

แม้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชุดที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ-กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เป็นหัวขบวน จะไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า จะสามารถโละ-รื้อกฎหมายล้าสมัยได้กี่ฉบับ

ทว่า “กอบศักดิ์” ให้คำตอบว่า จะปฏิรูปใบอนุญาต-คู่มือ ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 700,000 ฉบับ แต่การปฏิรูปครั้งนี้มีเป้าหมายให้เหลือ 1,000 ฉบับ

ขณะที่ “บวรศักดิ์” กล่าวไว้ในวาระแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปด้านกฎหมาย ว่า กฎหมายที่จะถูกรื้อ เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีจำนวน 1,300 ฉบับ กฎหมายลูก อาทิ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กฎกระทรวง จำนวนหลายแสนฉบับ และระเบียบ-หนังสือเวียนนับล้านฉบับ

ปฏิรูปตำรวจ “ไม่ถึงฝั่ง”

แผนปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม วงเงิน 1,990.60 ล้านบาท อาทิ 1.มาตรการแทนการควบคุมตัวผู้กระทำผิดอาญา 421.50 ล้านบาท 2.จัดตั้งหน่วยงานบังคับทางอาญา เช่น โทษปรับ ริบทรัพย์สิน ติดตามจับกุมผู้หลบหนี 292 ล้านบาท 3.นำเทคโนโลยีการรับแจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจ 30 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูป “องค์กรตำรวจ” ที่มี “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน สุดท้ายต้องตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มี 3 พญาครุฑ-พญาอินทรี “มีชัย ฤชุพันธุ์-วิษณุ เครืองาม-บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นหัว-หาง

ล้อมคอกทุจริต 1,487 คดี

แผนปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ วงเงิน 8,970 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่าในปี 2560 ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 พฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ 2,573 เรื่อง อันดับ 2 การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 343 เรื่อง อันดับ 3 การยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์สินของราชการ 316 เรื่อง อันดับที่ 4 การทำ-รับรองเอกสารเท็จ 237 เรื่อง และอันดับที่ 5 เจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน 217 เรื่อง

สำหรับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มี “คดีค้าง” อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 จำนวน 2,793 เรื่อง

นอกจากนี้ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จัดกลุ่มรูปแบบพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างปี 2558-2560 จำนวน 559 เรื่อง ได้แก่โครงการรัฐบาล ปี”58 จำนวน 4 เรื่อง ปี”59 จำนวน 2 เรื่อง ยักยอกทรัพย์ของทางราชการ ปี”58 จำนวน 37 เรื่อง ปี”59 จำนวน 39 เรื่อง ปี”60 จำนวน 70 เรื่อง ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ปี”58 จำนวน 13 เรื่อง ปี”59 จำนวน 39 เรื่อง ปี”60 จำนวน 18 เรื่อง

ทุจริตจำนำข้าว ปี”58 จำนวน 1 เรื่อง ปี”59 จำนวน 1 เรื่อง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอื่น ๆ ปี”58 จำนวน 63 เรื่อง ปี”59 จำนวน 86 เรื่อง และปี”60 จำนวน 186 เรื่อง

ขณะที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จัดกลุ่มรูปแบบพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบปี 2559 จำนวน 254 เรื่อง ปี 2560 จำนวน 674 เรื่อง อาทิ เจ้าหน้าที่เบียดบังทรัพย์ ปี”59 จำนวน 26 เรื่อง ปี”60 จำนวน 60 เรื่อง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ปี”59 จำนวน 161 เรื่อง ปี”60 จำนวน 379 เรื่อง

คืน VAT หนุนการออม

แผนปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 28,919.48 ล้านบาท แผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข วงเงิน 12,379.9 ล้านบาท แผนปฏิรูปด้านสังคม วงเงิน 16,250 ล้านบาท อาทิ จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนหนึ่งคืนกับผู้เสียภาษีเพื่อเป็นการออมจนอายุ 60 ปี

แผนปฏิรูปด้านพลังงาน 17 ประเด็น อาทิ ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงาน จัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ซึ่งตามแผนการใช้งบประมาณขององค์กร 5 ปีแรก 466 ล้านบาท การสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน การปฏิรูปโครงสร้างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ทั้งนี้แผนการปฏิรูปพลังงานทั้งหมดไม่ได้ “ระบุจำนวนเงิน”

แผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เวลาดำเนินการ 5 ปี “ไม่ระบุจำนวนเงิน” อาทิ การใช้ “คนดัง” ในแวดวงบันเทิง-กีฬา เป็นผู้นำเสนอในการเชิญชวนให้ประชาชนรู้จักเลือกที่จะบริโภคสื่อ ให้ กสทช.เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้-ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แก้กฎหมายให้ครอบคลุมการเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ

เบ็ดเสร็จแผนปฏิรูประยะ “เฉพาะกาล” 5 ปี แต่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” 

ต้องใช้ “เม็ดเงิน” รื้อร่าง-ขึ้นโครงประเทศใหม่ วงเงินกว่า 696,339 ล้านบาท