เปิดข้อโต้แย้ง เซตซีโร่ กกต. ยกนิติประเพณี งัดข้อ กรธ.-สนช.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปมเซตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่ผ่านการประทับตราความถูกต้องโดยเสียงข้างมากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง การขบเหลี่ยมอำนาจกันระหว่างพวกเดียวกันเองในแม่น้ำห้าสาย

ฝ่ายหนึ่งคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผนึกกำลังกับ สนช. โดยมีคู่กรณี คือ กกต.

ทางออกของการขบเหลี่ยมอำนาจคือการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ กรธ.-สนช. ฝ่ายละ 5 คน และตัวแทน กกต.อีก 1 คน คือ ศุภชัย สมเจริญ

เมื่อ กกต.ไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ จึงส่งหนังสือ “ข้อโต้แย้ง” ว่า มีบทบัญญัติในกฎหมายลูก กกต. ถึง สนช.และ กรธ. 6 ข้อ ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ข้อหนึ่ง ในมาตรา 11 วรรคสาม กำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหาเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด กล่าวคือ “ให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในกิจการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ๆ” ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิ ปิดกั้น และรอนสิทธิบุคคล ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ

ข้อสอง มาตรา 12 วรรคหนึ่ง กำหนดคุณสมบัติ กกต.เกินกว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 5 กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดคุณสมบัติ กกต.ว่า “มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม” แต่ในกฎหมายลูก มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…ไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ”

ข้อสาม มาตรา 26 อำนาจหน้าที่ของ กกต.ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้ กกต.แต่ละคนซึ่งพบเห็นการกระทำความผิด มีอำนาจ ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง หรือการเลือก หรือออกเสียงประชามติได้ แต่ปรากฏว่าในกฎหมายลูก กกต.ได้ตัดอำนาจไป ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224

ข้อสี่ มาตรา 27 อำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้ง ส.ว. และเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ แต่ในกฎหมายลูก กกต. มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้ กกต.มีอำนาจดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมและดูแลของ กกต. โดยไม่ได้ระบุให้ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้อง กกต.ได้ เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ แต่ไม่ดำเนินการ แต่ในทางกลับกัน กกต.ลงไปจัดการเลือกตั้งให้ ก็อาจถูกฟ้องได้

ข้อ 5 มาตรา 42 การบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบอำนาจการสอบสวนได้ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ กกต. ในการสอบสวนหรือไต่สวน กกต.จะมอบหมายให้ กกต.แต่ละคนดำเนินการมอบหมายให้คณะบุคคลดำเนินการภายใต้กำกับของ กกต. มีอำนาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จำเป็นหรือตามที่เห็นสมควร รวมทั้งสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อให้การสืบสวนหรือไต่สวนในคดีทุจริตเลือกตั้งมีความรวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น

แต่ในกฎหมายลูก มาตรา 41 ระบุให้คณะกรรมการ มีอำนาจตั้งเลขาธิการ หรือพนักงานของสำนักเป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวน หรือดำเนินคดีได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด อันถือว่ามีถ้อยคำเกินกว่าบทบัญญัติมาตรา 224

และข้อ 6 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยการเซตซีโร่ กกต.นั้น กกต.ได้ยก 2 หลักขึ้นมาต่อสู้

หนึ่ง “หลักนิติธรรม” อ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 263 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช.ที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ทำหน้าที่สภาผู้แทนฯ ส.ว. และให้สิ้นสุดลงก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังเลือกตั้งทั่วไป”

สอง หลักนิติประเพณีที่ไม่บัญญัติกฎหมายให้มีผลบังคับย้อนหลัง


งานนี้ กกต.ถึงกับเปิดตำรางัดหลักนิติประเพณีมาสู้คณะกรรมการ 3 ฝ่าย