คอลัมน์ : Politics policy people forum
จากม็อบสีเสื้อ เหลือง-แดง จนถึงม็อบเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่เป็นรอยความขัดแย้งทางการเมืองไทยมาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล ย่อมถูกม็อบขับไล่
เว้นก็แต่หลังเลือกตั้ง 2566 ที่มีการจัดตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” สลายความขัดแย้งทางการเมือง
ทุกฝ่ายการเมือง รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล ซึ่งต่อมาเป็น พรรคประชาชน ก็เห็นพ้องตรงกันว่าควรนิรโทษกรรม จบความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 2 ทศวรรษ
จึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 1 คณะ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมทั้งจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการ “นิรโทษกรรม” เอาไว้อย่างชัดเจน เป็นขั้นตอน
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จะนำรายงานฉบับนี้ไปประกอบการตรากฎหมาย หลังจากเปิดประชุมสภาสมัยถัดไปจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ร่าง
4 เหตุการณ์นิรโทษ
ทั้งนี้ แนวทางนิรโทษกรรมในผลการศึกษา กำหนด “ช่วงเวลา” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ในยุครัฐบาลไทยรักไทย แบ่ง 4 ช่วงสำคัญทางการเมือง ดังนี้
1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ตั้งแต่ 2548 ถึง 2551
2.การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ตั้งแต่ 2550 (หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) จนถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553
3.การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556 ถึง 2557
และ 4.การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565
นิยามแรงจูงใจ
สำหรับนิยามที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมอันมาจากการกระทำที่มี “แรงจูงใจทางการเมือง” หมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
รูปแบบการ “คัดกรอง” ว่าคดีไหนจะได้รับการนิรโทษกรรมจะใช้แบบ “ผสมผสาน” และแบ่งคดีออกเป็น คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว
1.คดีหลักและคดีรอง ผู้พิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะ “นิรโทษกรรม” หรือไม่ คือ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.คดีที่มีความอ่อนไหว ผู้พิจารณาวินิจฉัย คือ คณะกรรมการนิรโทษกรรม
23 อรหันต์ตัดสินล้างผิด
สำหรับ “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ที่มีอำนาจสูงสุดในการกลั่นกรอง จำนวน 23 คน มีองค์ประกอบดังนี้
1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
กรรมการโดยตำแหน่ง 15 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนายกสภาทนายความ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน จาก ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ด้านละ 1 คน
กรรมการ 3 คน จากผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับบริบททางการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเลือกกันเอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด
คดีหลักความมั่นคง
การกระทำใน “คดีหลัก” ระบุไว้ในรายงานการศึกษาระบุ ตัวอย่าง เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 1.ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 (1) หรือ (2) ความผิดฐานกบฏ มาตรา 114 สะสมกำลังเพื่อก่อกบฏ (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ)
ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย มาตรา 1351 (2) หรือ (3) ความผิดฐานก่อการร้าย มาตรา 1352 ขู่เข็ญจะก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ความผิดตามคำสั่ง คสช.
ความผิดคดีรอง
การกระทำในคดีรอง แบ่งเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน อาทิ มาตรา 209 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ ซ่องโจร, ช่วยเหลือ อุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิกและพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พำนัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด
ขั้นตอนการนิรโทษกรรม
1.ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย จะต้องยื่นคำร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น ให้หน่วยงานราชการที่รับคำร้องมีอำนาจรับคำร้องและพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบ
2.หากคดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าของคดี ให้ยุติการสอบสวน
3.คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยุติการดำเนินคดี
4.คดีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง
5.กรณีที่จำเลยถูกฝากขังในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย
– คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและผู้ต้องคดีเป็นนักโทษในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษ
6.คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดประสงค์ขอให้ลบล้างประวัติ ให้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จากนั้นให้หน่วยงานดังกล่าวรายงานต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อพิจารณา หากไม่เห็นแย้งใน 15 วัน ให้ถือว่าคณะกรรมการนิรโทษกรรมเห็นด้วย
ทั้งนี้ ในชั้นพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากคณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณากลั่นกรองแล้ว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีคดีที่เข้าข่ายตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้ “หยุดการดำเนินคดี” หรือ “การพิจารณา” ในคดีนั้นไว้ก่อน และศาลอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
นิรโทษกรรม-ปรองดอง เป็นคำที่อยู่คู่การเมืองมาเกือบ 2 ทศวรรษ
อาจสำเร็จได้ในยุคนี้ เมื่อการสลายขั้วเกิดขึ้น