
นายกฯ กำชับรัฐบาลเร่งชงมาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมทุกมิติ-สั่งกระทรวงดีอี-ทรัพย์ฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกัน PM 2.5 ช่วงต้นไม่ต้องรอวิกฤต
วันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อสั่งการ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมว่า มาตรการการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีระบุในที่ประชุม ครม. ว่าตั้งแต่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วยงานเร่งพิจารณาถึงการช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับส่งเรื่องที่เกี่ยวข้องในการเยียวยาต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติมไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เพื่อพิจารณากลั่นกรอง โดยไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน
พร้อมทั้งให้เกิดการครอบคลุมในทุกมิติ และขณะนี้สถานการณ์ก็ได้คลี่คลายลง และกำลังเข้าสู่ช่วงการเยียวยาฟื้นฟู จึงขอกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอมาตรการโดยเร็ว เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.
โฆษกรัฐบาลระบุอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยว่าถึงแม้จะมีการส่งมอบคืนพื้นที่แล้ว แต่ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่ยังคงให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องของฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งยังคงจะมีปัญหาหมอกควัน รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่จะตามมา จนทำให้เกิดสภาวะ PM 2.5
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เตรียมป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการแก้ไขปัญหาในช่วงต้น ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อนแล้วจึงแก้ไข เพื่อที่จะได้ประสานงานถึงที่มาของฝุ่นควัน ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือเกษตรกรในประเทศ โดยมีมาตรการว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดและอ้อยที่เกิดจากการเผาทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากทำให้เกิดฝุ่นควัน
นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคม ดำเนินการตรวจจับรถยนต์ที่มีค่าไอเสียมากขึ้น โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อควบคุมมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้นายประเสริฐและนายเฉลิมชัยนำเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำ และแผนงานของนายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐา และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บูรณาการร่วมกัน และเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในอนาคต รวมถึงน้ำในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมของประเทศไทย